เจาะโรคหัวใจ โรคที่คนไทยต้องรับมือ
เจาะโรคหัวใจ โรคที่คนไทยต้องรับมือ

หนึ่งในโรคที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้มากมายและเป็นศัตรูของคนไทยมาอย่างยาวนาน โรคนี้ยังเป็นโรคที่หลายคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นสูงเนื่องจากปัจจัยหรือสาเหตุในการเกิดมีมากมายหลายประการ และบางประการเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถป้องกันได้ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม หรืออายุที่มากขึ้น เป็นต้น ไม่เพียงแต่เท่านั้นอันตรายขั้นร้ายแรงที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ คือ การเสียชีวิต โรคร้ายนี้เป็นโรคที่เกิดกับอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ทุกคนขาดไม่ได้ มาจนถึงตอนนี้ทุกคนคงรู้แล้วว่าโรคนั้นคือ "โรคหัวใจ" 

 

โรคหัวใจคืออะไร

 

คือ โรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยมักเกิดความผิดปกติกับเส้นเลือด หรืออาจมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด ซึ่งในยุคสมัยใหม่นี้โรคร้ายชนิดนี้มีแนวโน้มมากขึ้นในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้สามารถเกิดได้จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่คุ้นชินโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว โดยโรคนี้สามารถจำแนกออกได้หลายชนิด เช่น

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-อุดตัน
  • โรคหัวใจวาย
  • โรคลิ้นหัวใจ

 

สาเหตุของโรคหัวใจ

 

โรคหัวใจแต่ละชนิดมีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกันไป แต่ยังมีสาเหตุหลายปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดโรคนี้ได้ทั้งสาเหตุที่เราสามารถควบคุมหรือปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงได้ เช่น น้ำหนักตัวที่มากเกินมาตรฐาน พฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่เป็นประจำ และสาเหตุที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขปรับเปลี่ยนได้เช่นกัน ได้แก่ อายุที่มากขึ้น หรือการสืบทอดผ่านพันธุกรรม การเป็นโรคบางชนิดที่มีผลให้เกิดโรคร้ายนี้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีภาวะความเครียด เป็นต้น ดังนั้นการระแวดระวังตนเอง และการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อลดอัตราการเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด

 

อาการที่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

 

เนื่องจากโรคหัวใจมีหลายชนิดและมีผลต่อการแสดงอาการที่ต่างกันตามชนิดของโรคนี้ อย่างไรก็ตามโรคร้ายยังนี้ยังมีอาการที่แสดงออกร่วมกันที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • แน่นหน้าอก ปวดหน้าอก
  • มีอาการใจสั่นและหัวใจเต้นเร็ว
  • มีอาการเหนื่อยง่าย
  • มีอาการขาบวม

 

ทั้งนี้อาการเจ็บหน้าอกไม่ได้บ่งบอกถึงโรคหัวใจเสมอไป เนื่องจากอาการเจ็บหน้าอกนี้สามารถเกิดจากภาวะอื่น ๆ ได้ เช่นอาการปวดของลิ้นปี่ที่มีผลมาจากกรดในกระเพาะอาหาร เกิดจากการวิตกกังวล และโรคหอบ เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากมีอาการเจ็บหน้าอกมากขึ้นจนเกินไปควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที

 

โรคหัวใจ

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ

 

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโรคหัวใจทุกชนิด นอกจากนี้ยังสามารถเกิดภาวะอื่น ๆ ได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคทางหัวใจที่ผู้ป่วยเป็นด้วย เช่น โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือด เป็นต้น

 

 

การวินิจฉัยโรคหัวใจ

 

สามารถวินิจฉัยได้หลายวิธีเพื่อทดสอบการทำงานของหัวใจ และหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป ตัวอย่างเช่น

  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ทำให้สามารถเห็นผนังห้องหัวใจและการบีบตัว เพื่อให้ง่ายต่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การเอกซเรย์หัวใจ โดยการนอนเอกซเรย์บนเครื่อง CT Scan เพื่อให้เห็นภาพลักษณะของหัวใจ
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยการตรวจผ่านเครื่องมือ MRI เพื่อให้เห็นลักษณะของหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจกระแสไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อหัวใจผลิตออกมา เป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว แต่ได้ผลลัพธ์ดี 

 

ความเครียด ตัวร้ายของหัวใจ

 

ขึ้นชื่อว่า “ความเครียด” นั้นไม่ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างแน่นอน เพราะความเครียดมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทและสมองทำให้ไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของเกล็ดเลือด อาจทำให้หลอดเลือดเกิดการแข็งตัว เกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ทัน นอกจากนี้ความเครียดยังทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หากเป็นบ่อย ๆ อาจจะสร้างความเสียหายให้กับหัวใจของเราได้ด้วย

 

การป้องกันและการรักษาโรคหัวใจ

 

โรคทางหัวใจบางชนิดสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด หรือทำการสวนหัวใจ ส่วนในด้านการป้องกันสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เลิกสูบบุหรี่และเลิกดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากโรคหัวใจจะอันตรายและมีหลายชนิดแล้ว ยังสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง และควรหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจเพื่อติดตามความสมบูรณ์ของหัวใจอย่างสม่ำเสมอ

 

โรคนี้อาจดูเลวร้ายและมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่ถ้าหากเราเอาใจใส่ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและเลิกพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงจะสามารถช่วยให้โอกาสในการเกิดโรคนี้ลดลงได้มาก อย่างไรก็ตามการตรวจหัวใจยังเป็นอีกวิธีที่ควรเลือกทำเพื่อให้รู้ความสมบูรณ์ของหัวใจอยู่ตลอดเวลา

_____________________________________

บทความที่เกี่ยวข้อง