พาร์กินสัน โรคร้ายทางสมองที่ไม่ใช่แค่อาการสั่นเกร็ง
พาร์กินสัน โรคร้ายทางสมองที่ไม่ใช่แค่อาการสั่นเกร็ง

โรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของสมองที่นอกเหนือจากโรคอัลไซเมอร์ ยังมีโรคที่เกี่ยวกับสมองที่จะส่งผลให้ร่างกายมีอาการสั่นเกร็งตามส่วนต่าง ๆ มีผลต่อการเคลื่อนไหว นั่นคือ “โรคพาร์กินสัน” ซึ่งเกิดจากการที่เซลล์สมองในส่วนของก้านสมองส่วนกลาง (Midbrain) ถูกทำลายไปทีละน้อย ๆ จนเกิดความเสียหาย โรคนี้มักจะพบในผู้สูงอายุ และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยครอบครัวที่มีผู้สูงอายุควรมีความรู้ และความเข้าใจในโรคนี้ เพราะโรคนี้ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นเราควรรู้จักโรคนี้ไว้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

โรคพาร์กินสันคืออะไร

 

โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “โรคสันนิบาตลูกนก” เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์สมองในส่วนที่สร้างสารเคมีที่ชื่อว่า โดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเริ่มทำงานเสื่อมสภาพลงจนไม่สามารถผลิตสารนี้ได้อีกต่อไป จึงมีผลให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ โรคนี้จะพบมากในช่วงอายุ 65-80 ปีขึ้นไป โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า โรคนี้จะดำเนินไปอย่างช้า ๆ แต่สามารถกระทบกับผู้ป่วยได้ในระยะยาว

 

พาร์กินสันอาการเป็นอย่างไร

 

โดยปกติแล้วโรคนี้จะมีอาการที่แสดงออกมามาก หรือน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่ที่เป็นเหมือนกันคือ โรคนี้จะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเหมือนโรคทางสมองอื่น ๆ และอาการจะเป็นมากขึ้นไปด้วยหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน โดยอาการที่แสดงออกมีดังนี้

  • อาการสั่นเกร็ง (Tremor) มักจะมีอาการที่นิ้วมือ แขน ขา โดยจะเกิดอาการสั่นเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหว และไม่สามารถควบคุมได้ หากเริ่มทำกิจกรรมอาการสั่นจะลดลง หรือหายไป และอาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย
  • เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) ใช้เวลานานในการเคลื่อนไหว หรือช้ากว่าปกติ ทำให้เกิดความยากลำบากในชีวิตประจำวัน และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้
  • ท่าเดินผิดปกติ (posture instability) ผู้ป่วยจะมีอาการก้าวเดินสั้น ๆ ในช่วงแรกและจะก้าวยาวขึ้น จนเร็วมาก และไม่สามารถหยุดได้ทันที นอกจากนี้ยังอาจมีอาการหลังค่อม แขนไม่แกว่ง หรือเดินแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์
  • การแสดงสีหน้าเหมือนใส่หน้ากาก (masking face)ผู้ป่วยจะมีใบหน้าเฉยเมย เวลาพูดมุมปากจะยกขึ้นเพียงเล็กน้อยทำให้ดูเหมือนไม่มีอารมณ์ร่วม
  • พูดเสียงเบา ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดเสียงเบา หรือเสียงอาจหายไปในลำคอ บางรายอาจมีอาการพูดรัวเร็ว ระดับเสียงในการพูดอยู่ในระดับเดียวกันตลอด และอาจมีน้ำลายสอออกมาคลออยู่ที่มุมปาก

 

อาการสั่น พาร์กินสัน

 

โรคพาร์กินสันมีกี่ระยะ

 

  • ระยะที่ 1 จะมีอาการเริ่มต้น คือ เกิดอาการสั่นเมื่อมีการหยุดพัก หรือไม่มีการเคลื่อนไหวอวัยวะ เช่น นิ้วมือ แขน ซึ่งจะเป็นเพียงอวัยวะซีกเดียว นอกจากนี้จะมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัวร่วมด้วย โดยข้างที่เป็นจะมีอาการงอเล็กน้อย
  • ระยะที่ 2 อาการจะเริ่มลุกลามไปที่อวัยวะอีกข้างหนึ่ง ผู้ป่วยจะเริ่มหลังงอ เดินตัวโก่งไปข้างหน้า เคลื่อนไหวช้าลง เวลาเดินจะก้าวเท้าสั้น ๆ และต่อมาจะก้าวยาวมากขึ้น แต่จะไม่สามารถหยุดได้ทันที นอกจากนี้ยังมีอาการเริ่มแยกตัวออกจากสังคม
  • ระยะที่ 3 มีอาการทรงตัวผิดปกติ อาจหกล้มได้ง่าย เวลาลุกยืนจะลำบาก เพราะเมื่อลุกแล้วเดินศีรษะจะซุนไปข้างหน้า
  • ระยะที่ 4 ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง อาการสั่นจะลดลง แต่จะมีอาการแข็งเกร็ง และเคลื่อนไหวช้ามากขึ้นกว่าเดิม ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะผู้ป่วยจะหกล้มได้ง่าย และไม่สามารถยืนได้
  • ระยะที่ 5 กล้ามเนื้อแข็งเกร็งมากขึ้นจนผู้ป่วยเคลื่อนไหวไม่ได้เลย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ศีรษะก้มมาจรดคอ มือเท้าหงิกงอ เสียงพูดแผ่วเบา ไม่มีการแสดงความรู้สึกทางสีหน้า ผู้ป่วยจะไม่สามารถทานอาหารได้ทำให้ร่างกายซูบผอมลง ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยลงเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ

 

รักษาพาร์กินสันได้อย่างไร

 

  • การรับประทานยา เพื่อเพิ่มปริมาณสารเคมีโดปามีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยแพทย์จะพิจารณาการให้ยาตามอาการของผู้ป่วย
  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง และการทรงตัว ผู้ป่วยจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น
  • การผ่าตัด มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่มาก หรือผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากการรับประทานยา  การผ่าตัดจะใช้วิธีฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง เรียกว่า การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation)

 

การดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

 

  • ผู้ป่วยโรคนี้จะมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว เพราะจะมีอาการสั่น และไม่สามารถควบคุมการเดินได้อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ คนใกล้ชิดจึงควรช่วยเหลือผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ หรือกิจกรรมที่ผู้ป่วยสนใจ
     
  • ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ รวมถึงดูแลเรื่องการรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์แนะนำ
     
  • ในด้านจิตใจ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอารมณ์ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะพยายามแยกตัวเองออกจากสังคม และรู้สึกกลัวว่าจะไม่มีใครดูแล จนเกิดความท้อแท้ และหมดกำลังใจ คนในครอบครัวจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด และทำความเข้าใจโรคที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่ด้วย
     
  • หมั่นให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัด เพื่อฝึกการทรงตัว โดยการฝึกเดินให้ได้มากที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการเดินลำบากสามารถใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัวได้
     
  • กรณีดูแลผู้ป่วยติดเตียง ต้องระวังการป้อนอาหาร ควรป้อนคำเล็ก ๆ ช้า ๆ เพราะผู้ป่วยอาจเกิดอาการสำลักอาหารและอาจส่งผลให้ติดเชื้อได้
     
  • ดูแลเรื่องสุขอนามัย และหมั่นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันแผลกดทับ
     

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้เสี่ยงพิการ และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ ดังนั้นหากพบว่าคนในครอบครัวมีอาการเข้าข่ายจะเป็นโรคนี้ควรรีบพาเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยนั่นเอง



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI