กระดูกสันหลังเสื่อม คนอายุน้อยเป็นกันมากขึ้น
กระดูกสันหลังเสื่อม คนอายุน้อยเป็นกันมากขึ้น

กระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) คือ ภาวะการเสื่อมสภาพของกระดูก หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นกระดูก และกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการติดแข็ง ไม่ยืดหยุ่น การรับน้ำหนัก หรือการเคลื่อนไหวทำได้ไม่เหมือนปกติ ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่ อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบว่า คนอายุน้อยเป็นกันมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามส่วนต่างของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical Spine) และกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว (Low Back)

 

 

สาเหตุที่ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อม

 

การเกิดแรงกดบนหมอนรองกระดูก และข้อต่อของกระดูกสันหลังที่โค้งงอมาเป็นเวลายาวนาน จนเกิดการเสื่อมสภาพ ร่างกายจึงสร้างกระดูกบริเวณข้อต่องอกออกมา จนไปเบียด หรือกดทับเส้นประสาท และไขสันหลัง ซึ่งมีปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

อายุที่สูงขึ้น

 

  • จะเกิดความเสื่อมของกระดูกตามธรรมชาติ

 

การมีน้ำหนักตัวที่เยอะ

 

  • ส่งผลให้กระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักเยอะกว่าปกติ ยิ่งก่อให้เกิดความเสื่อม

 

กรรมพันธุ์

 

  • ตามความแข็งแรงของกระดูกในแต่ละบุคคล

 

พฤติกรรมการใช้งานกระดูกสันหลังมากเกินไป

 

  • การแบก หรือสะพายของหนักๆ

 

  • การนั่งทำงาน หรือเสพสื่อโซเชียลมีเดียหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ

 

  • การก้ม-เงยศีรษะ ขณะเล่นโทรศัพท์

 

  • การใส่รองเท้าส้นสูง

 

  • การนอนท่าผิดปกติ และเลือกชุดเครื่องนอนที่ไม่เหมาะสม

 

  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ

 

 

อาการกระดูกสันหลังเสื่อม

 

  • ปวดหลัง และบั้นเอว ขณะก้ม-เงย หรือแบกของหนัก

 

  • กระดูกสันหลังติดแข็ง ไม่ยืดหยุ่น ส่งผลให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก

 

  • อวัยวะตามแนวเส้นประประสาท เช่น แขน มือ ขา และเท้า เกิดอาการอ่อนแรง เป็นเหน็บชา

 

  • การเดินลำบาก คล้ายจะหกล้มตลอด โดยเฉพาะเมื่อต้องขึ้น-ลงบันได จากการเบียด หรือกดทับเส้นประสาท และไขสันหลังอย่างรุนแรง

 

 

การวินิจฉัยกระดูกสันหลังเสื่อม

 

ในขั้นแรกแพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วยถึงลักษณะอาการปวด หลังจากนั้นก็ตรวจร่างกายเบื้องต้นตามการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย เช่น การหัน เอียงศีรษะจากซ้ายไปขวา, การก้ม-เงย เคลื่อนไหวเอวตามทิศทางต่างๆ, การตอบสนองจากการสัมผัสมือ และขา หากผู้ป่วยมีท่าทีของอาการที่รุนแรง ก็จะใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยให้ตรงกับจุดเกิดโรคเพิ่มเติม ได้แก่

 

  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

 

  • การใช้เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

 

  • การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (EMG)

 

 

การรักษากระดูกสันหลังเสื่อม

 

การใช้ยา

 

ยาแก้ปวด

 

  • ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)

 

ยาแก้อักเสบ ที่ไม่มีสเตียรอยด์

 

  • ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)

 

  • ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

 

  • นาพรอกเซน (Naproxen)

 

การฉีดยาเข้าโพรงกระดูกสันหลัง

 

การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงกระดูกสันหลัง ทั้งบริเวณคอ และหลัง

 

  • เมื่ออาการปวดบรรเทาลงแล้ว ควรงดการใช้อุปกรณ์ เพราะจะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ กระดูกสันหลัง

 

การทำกายภาพบำบัด

 

  • เป็นการยืดกระดูกสันหลังที่กดทับเส้นประสาท เพื่อเพิ่มช่องว่างในระหว่างบริเวณส่วนนั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายสะดวกขึ้น และบรรเทาอาการปวด

 

การผ่าตัด

 

  • การผ่าตัดเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง

 

  • การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม

 

 

การบริหารร่างกายสำหรับผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อม

 

ผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อมสามารถทำการออกกำลังกาย โดยใช้ท่าบริหารร่างกายตามคำแนะนำของแพทย์ และนักกายภาพบำบัดได้ เช่น

 

ท่ายืด เหยียดกล้ามเนื้อคอ

 

  • โดยการโน้มศีรษะไปด้านหน้าเล็กน้อย และหมุนออกด้านขวาช้าๆ ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที และทำเหมือนเดิมในด้านซ้าย ด้านละ 3 ครั้ง

 

ท่ายืดกล้ามเนื้อสะโพก

 

  • นอนอยู่บนเตียงโดยให้ต้นขาอยู่นอกขอบเตียง และใช้มือดึงเข่าข้างหนึ่งขึ้นมาชิดหน้าอกข้างไว้ 30 วินาที ทำข้างละ 3 ครั้ง

 

หมุนเอว

 

  • นอนโดยที่ยกเข่าตั้งฉากขึ้น และเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งอย่างช้าๆ 10-15 ครั้ง

 

ท่าบริหารเชิงกราน

 

  • นอนให้หลังติดกับพื้น และเกร็งหน้าท้อง 10 วินาที 10 ครั้ง

 

 

ปวดหลังอีกแล้ว

 

 

การป้องกันกระดูกสันหลังเสื่อม

 

หลีกเลี่ยงลักษณะท่าทาง หรืออิริยาบถต่างๆ

 

  • เช่น ก้ม-เงยบ่อย

 

  • นั่ง หรือนอน ท่าเดิมเป็นเวลานาน

 

  • ยกของหนัก

 

สิ่งที่ควรปฏิบัติ

 

  • เช่น พักสายตาในระหว่างอ่านหนังสือ หรือทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์

 

  • นั่งหลังตรง และใช้เบาะเพื่อรองรับน้ำหนักที่บั้นเอว

 

  • ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้พอดีกับสายตา

 

  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้หลังบาดเจ็บ

 

  • ยืด เหยียด อบอุ่นร่างกาย ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา

 

 

กระดูกสันหลังเสื่อมที่มีการกดทับเส้นประสาทจากอุบัติเหตุ มีความเสี่ยงถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้  หากมีอาการปวดหลังแบบเป็นๆ หายๆ รู้สึกแขน ขาอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือการเดินผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์โดยทันที ปัจจุบันการผ่าตัดกระดูกสันหลังไม่ได้น่ากลัว เพราะมีการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วย เช่น การส่องกล้องผ่าตัด การใช้เลเซอร์ ทำให้ลดการติดเชื้อหลังผ่าตัด เสียเลือดน้อย ใช้ระยะเวลาพักฟื้นน้อยลง สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติได้เร็วขึ้น

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

เวชศาสตร์ฟื้นฟู