ชิคุนกุนยา โรคจากยุงลายที่ควรรู้จัก
ชิคุนกุนยาต่างกับไข้เลือดออก

ชิคุนกุนยา ไม่ใช่ชื่อศิลปินเกาหลี หรือชื่อของตัวละครในการ์ตูนญี่ปุ่น แต่เป็นชื่อโรคที่มาจากภาษาถิ่นมากอนดีของแอฟริกาใต้ (Chikungunya) มีความหมายว่าอาการงอตัว ซึ่งที่มาของคำนี้มาจากอาการของผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากการปวดข้ออย่างรุนแรงจนตัวบิดงอนั่นเอง ชิคุนกุนยาเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส และเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การรู้จักโรคนี้ไว้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อรู้เท่าทันโรคที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อเรียนรู้ที่จะป้องกันการเกิดโรคได้อีกด้วย

 

โรคชิคุนกุนยาคืออะไร และมาจากไหน

 

ต้นกำเนิดของโรคนี้มาจากทวีปอันไกลโพ้น นั่นคือแอฟริกาใต้ พบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 ในประเทศแทนซาเนีย โดยตัวร้ายที่นำพาโรคชิคุนกุนยามาสู่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลตัวเราเลย แต่เป็น “ยุง” สิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่สามารถพบได้ง่าย นอกจากจะสร้างความรำคาญ และดูดเลือดของเราแล้ว มันยังเป็นพาหะนำพาโรคร้ายมาสู่ตัวเราด้วย
 

โรคนี้จะระบาดหนักในช่วงฤดูฝน หรือบริเวณที่มีน้ำขังเพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ และทุกวัย แต่จะอันตรายมากในเด็กเล็ก เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะฟักตัวประมาณ 1-12 วัน และจะแสดงอาการ หลังได้รับเชื้อไปแล้ว 3-7 วัน อาการของโรคชิคุนกุนยาจะคล้ายกับไข้เลือดออก โดยจะแสดงออกดังนี้
 

  • ไข้สูงเฉียบพลัน
     
  • คลื่นไส้ อาเจียน
     
  • ปวดศีรษะมาก
     
  • ปวดกล้ามเนื้อ
     
  • มีผื่นแดงตามร่างกาย
     
  • ปวดตามข้อเล็ก ๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า เป็นต้น

 

โรคชิคุนกุนยา

 

โรคชิคุนกุนยากับไข้เลือดออก โรคไหนอันตรายกว่ากัน

 

อย่างที่ได้เราบอกไปแล้วว่าโรคชิคุนกุนยากับไข้เลือดออกจะมีอาการที่คล้ายกันอย่างมาก และยังมีต้นกำเนิดจากยุงเหมือนกัน แต่ต่างกันเพียงโรคชิคุนกุนยาจะมีอาการปวดตามข้ออย่างรุนแรง และสร้างความทรมานกับให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมากจึงเป็นที่มาของชื่อโรคชิคุนกุนยานั่นเอง นอกจากนี้ยังไม่พบการรั่วของพลาสมาออกมานอกเส้นเลือด ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการช็อก พูดง่าย ๆ คือความรุนแรงของโรคนี้ไม่อันตรายเท่าโรคไข้เลือดออกที่อาจถึงแก่ชีวิตได้นั่นเอง

 

โรคชิคุนกุนยารักษาได้ไหม

 

โรคนี้ยังไม่มีการรักษา และวัคซีนป้องกัน เพียงรักษาตามอาการของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดข้อ หรือมีไข้ แพทย์จะให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจทำให้เกล็ดเลือดไม่จับตัวเป็นลิ่ม และเกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย นอกจากนี้ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และควรให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

 

การป้องกันโรคชิคุนกุนยา

 

ในเมื่อยุงร้ายกว่าเสือ เพราะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายต่อมนุษย์ และพบเจอได้บ่อยมากกว่าเสือที่อยู่ในป่าเสียอีก ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการระวังไม่ให้ตัวเองถูกยุงกัด หรือกำจัดยุงให้ห่างจากตัวเรา และคนที่เรารัก โดยมีวิธีดังนี้
 

  • ไม่ให้มีน้ำท่วมขัง ปิดภาชนะใส่น้ำทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จแล้ว เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
     
  • ควรหมั่นเปลี่ยนน้ำในกระถางต้นไม้ หรือแจกันที่ใช้ประดับบ้านทุกอาทิตย์ เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของลูกน้ำยุงลาย
     
  • ติดมุ้งลวด หรือกางมุ้งเพื่อป้องกันการถูกยุงกัด
     
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด รวมถึงทายากันยุงเพื่อไม่ให้ยุงกัด

 

สมุนไพรไล่ยุง ป้องกันโรคชิคุนกุนยา

 

นอกจากวิธีป้องกันโรคที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีวิธีไล่ยุงไปให้ห่างจากตัวเรา และคนในครอบครัวอีกหนึ่งประการ โดยอุปกรณ์ไล่ยุงที่เราจะแนะนำนั้นไม่ต้องไปหาจากที่ไหนไกล แต่เป็นสมุนไพรที่หาง่าย ปลอดภัยจากสารเคมี และราคาไม่แพง เช่น
 

  • ตะไคร้ บ้านหลังไหนที่ยุงเยอะแนะนำให้ปลูกต้นตะไคร้ไว้ เพราะในตะไคร้จะมีน้ำมันหอมระเหยที่เป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุงได้
     
  • กะเพรา สามารถนำใบกะเพรามาขยี้ให้น้ำมันหอมระเหยออกมาไล่ยุงได้
     
  • พืชในตระกูลส้ม เช่น ส้ม ส้มโอ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะใช้เปลือกส้มมาผึ่งให้แห้ง แล้วนำมาเผาไฟ เพียงเท่านี้จะได้น้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณไล่ยุงเป็นอย่างดี

 

ชิคุนกุนยา เป็นโรคที่ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ เมื่อเป็นแล้วย่อมสร้างความเจ็บปวด และความยากลำบากต่อการใช้ชีวิต หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติ หรือเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป