โรคลมแดด
โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก โรคอันตรายที่สามารถป้องกันได้หากรู้ทัน

 

หากพูดถึงหน้าร้อน ทุกคนคงนึกถึงพระอาทิตย์ดวงโตที่มักจะปล่อยแสงแดดอันร้อนแรง ที่คอยแผดเผาร่างกายของเราในทุกอณู ทำให้เราต้องประโคมทาครีมกันแดด สวมหมวก หรือกางร่ม เพื่อป้องกันอันตรายจากรังสี UV ที่มาพร้อมกับแสงแดด แต่ความอันตรายไม่ได้มีเพียงแค่รังสีชนิดต่าง ๆ ที่ทำร้ายผิวเท่านั้น ความร้อนที่โพยพุ่งออกมาพร้อม ๆ กับแสงแดดที่แผดเผานั้น อาจส่งผลทำให้เรากลายเป็น โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้

 

 

โรคลมแดดหรือฮีทสโตรกเป็นอย่างไร ? 

 

เป็นภาวะอุณหภูมิของแกนร่างกาย ที่สูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากการอยู่ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงมาก โดยเฉพาะในที่อากาศร้อนชื้น หรือเกิดจากการออกกำลังกายมากจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน โรคนี้สามารถส่งผลเสียต่อหัวใจ ระบบประสาท และไต เพราะหากเกิดอาการฮีทสโตรกขึ้นมา จะทำให้เลือดไหลเวียนไปที่อวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง

 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคลมแดด

 

  • อายุ เด็กหรือผู้สูงอายุจะมีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายน้อย

 

 

สถานที่อุณหภูมิสูง

 

 

  • การอยู่ในสถานที่หรือบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง หรือเปลี่ยนแปลงกะทันหัน

 

  • ยาบางชนิด ที่ส่งผลต่อความชุ่มชื้นของร่างกาย เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาทางจิตเวช หรือยาขยายหลอดเลือด เป็นต้น

 

  • โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น

 

 

ประเภทของโรคลมแดด 

 

โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

โรคลมแดดทั่วไป (Classical Heat Stroke)

 

จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนสูง ทำให้กระบวนการระบายความร้อนของร่างกาย ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ จึงมีการสะสมอุณหภูมิที่สูงภายในร่างกาย และเกิดเป็นโรคลมแดดในที่สุด

 

โรคลมแดดจากการใช้ร่างกายหนัก (Exertional Heat Stroke)

 

จะเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้ร่างกายอย่างหนักในที่กลางแจ้งเป็นเวลานาน จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน จึงทำให้อุณหภูมิของแกนร่างกายสูงขึ้น โรคลมแดดประเภทนี้จะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

 

 

อาการของโรคลมแดด

 

  • ร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป

 

 

ปวดศีรษะ

 

 

 

  • ความดันต่ำ หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว

 

  • ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ จึงไม่มีการขับเหงื่อออกมาทั้ง ๆ ที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูง

 

  • ตัวแดง เพราะร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น

 

  • มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น เพ้อ พูดช้า พูดไม่ชัด สับสน ชัก และหมดสติ เป็นต้น 

 

 

กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดมีใครบ้าง ? 

 

  • เด็กเล็กและผู้สูงอายุ

 

  • ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และผู้ขับขี่รถประจำทางที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

 

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

 

 

แรงงานก่อสร้าง

 

 

  • ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องอยู่ ณ สถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง เช่น ทหารที่ต้องเข้ารับการฝึกกลางแจ้ง, แรงงานก่อสร้าง, เกษตรกร, ตำรวจจราจร เป็นต้น

 

  • ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งและหักโหม

 

  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคลมแดด

 

โรคลมแดดสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้มากมาย เช่น 

 

  • ระบบประสาทส่วนกลาง หรือภาวะสมองบวม ส่งผลให้มีอาการสับสน ชักเกร็ง และหมดสติ 

 

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ 

 

  • ระบบกล้ามเนื้อ อาจส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย

 

  • ปอด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ 

 

  • ไต เสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน 

 

โดยภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับระยะเวลา และมีความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หากได้รับการช่วยเหลือล่าช้า จะทำให้อาการยิ่งรุนแรง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

 

 

การวินิจฉัยโรคลมแดด

 

  • การตรวจเลือด เพื่อดูความเสียหายของระบบประสาทส่วนกลาง ด้วยวิธีการดูระดับโพแทสเซียม โซเดียม ปริมาณก๊าซ และของเสียภายในเลือด

 

  • การตรวจปัสสาวะ โดยสีของปัสสาวะมักจะมีสีเข้ม เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น 

 

  • การตรวจสอบการทำงานของกล้ามเนื้อ แพทย์จะดูความเสียหายของกล้ามเนื้อที่ได้รับผลกระทบจากโรคลมแดด

 

  • เอกซเรย์ เพื่อดูความเสียหายของระบบภายใน ที่อาจได้รับผลกระทบจากโรคลมแดด

 

 

วิธีการรับมือเบื้องต้นเมื่อเป็นโรคลมแดด

 

หากพบผู้ป่วยที่เป็นโรคลมแดด สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ดังนี้

 

  • รีบพาเข้าที่ร่มหรือสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 

 

  • จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนยกเท้าสูง เพื่อให้เลือดหมุนเวียนกลับสู่หัวใจมากขึ้น

 

  • ถอดเสื้อคลุมออก และหาวิธีทำให้ร่างกายเย็น เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบตามรักแร้ คอ แขน ลำตัว และตามข้อพับต่าง ๆ

 

  • ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือแอลกอฮอล์

 

  • หากผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นแล้วสามารถให้ดื่มน้ำเปล่า เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป

 

 

การป้องกันโรคลมแดด

 

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาและรัดจนเกินไป มีความโปร่ง สามารถถ่ายเทความร้อนได้ดี

 

  • ใช้อุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก แว่นกันแดด ร่ม เป็นต้น

 

 

จิบน้ำตอนออกกำลังกาย

 

 

  • จิบน้ำระหว่างการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ

 

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง

 

  • หากอยู่บ้านควรเปิดหน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท หรือเปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านลง

 

  • หากผู้ป่วยต้องรับประทานยา ให้ปรึกษาแพทย์ว่าถ้าหากรับประทานยาชนิดนี้ จะมีผลต่ออุณหภูมิในร่างกายหรือไม่ 

 

 

โรคลมแดด แม้จะเป็นโรคที่ดูไม่น่ากลัว เพราะสามารถทำให้อาการดีขึ้นได้เพียงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่หากปล่อยให้อาการของผู้ป่วยคงอยู่เป็นเวลานาน อาจส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีบุคคลใกล้ตัวเกิดอาการของโรคลมแดดขึ้น ควรตั้งสติให้ดี และรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ภาวะขาดน้ำ โรคในช่วงฤดูร้อนที่ผู้สูงอายุควรระวัง

 

โรคทางผิวหนัง ที่เกิดจากแสงแดด