“ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้” อาการเหล่านี้เชื่อว่าทุกคนต้องเคยประสบพบเจอมาก่อน บางคนอาจจะเรียกอาการเหล่านี้ว่าไม่สบาย หากเป็นหนักขึ้นมาหน่อยจะเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่ แม้โรคนี้จะพบได้บ่อยเพราะไม่ว่าใครสามารถเป็นได้ทั้งสิ้น แต่แน่ใจแล้วหรือว่าท่านรู้จักโรคไข้หวัดใหญ่นี้ดีแล้ว วันนี้เราจะมาตีแผ่โรคไข้หวัดตัวร้าย ที่เป็นตัวการทำให้เราต้องนอนซมอยู่บนเตียงนานหลายวันให้ทะลุปรุโปร่งกันดีกว่า
โรคที่เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ณ บริเวณของจมูก ลำคอ และปอด ซึ่งสามารถพบได้ในฤดูหนาวและฤดูฝน หรือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างฉับพลัน การติดเชื้อจะมีความคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดา โดยสามารถติดต่อได้ผ่านการไอ เสมหะ น้ำลาย และการติดต่อมาจากผู้อื่น โดยเชื้อไวรัสจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 1-3 วัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะมีความอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอด และมีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งมักจะแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาวกับฤดูฝน มีสายพันธุ์ย่อยที่สามารถแบ่งได้อีก คือ H1N1, H3N2 เป็นต้น
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ที่พบได้บ่อย เช่น B Phuket, B Victoria และ B Yamagata เป็นต้น โดยมักระบาดในช่วงฤดูหนาวกับฤดูฝน และมีความอันตรายไม่น้อยไปกว่าสายพันธุ์ A เลย
สามารถติดต่อโดยได้รับเชื้อจากการสัมผัสต่าง ๆ เช่น การหายใจเอาเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไปในร่างกาย, การรับของเหลวที่มีเชื้อไวรัสปะปนอยู่เข้าไปในร่างกาย เช่น การสัมผัสโดนสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ นอกจากนี้โรคไข้หวัดใหญ่ยังสามารถติดต่อกันได้ด้วยการสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ ลูกบิดประตู เป็นต้น โดยเชื้อสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกาย ผ่านทางดวงตา จมูก และปากได้อีกด้วย
แม้โรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการคล้ายคลึงกันมาก แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่นั้น จะเกิดอาการป่วยอย่างเฉียบพลัน และมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น
มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป นานติดต่อกันหลายวัน
หนาวสั่น ปวดศีรษะ
ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว
บางรายอาจจะมีอาการไอแห้ง จาม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และคัดจมูกร่วมด้วย
เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
สตรีที่มีการตั้งครรภ์อยู่
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคหอบหืด, โรคปอดเรื้อรัง, โรคหัวใจ, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง, โรคอ้วน เป็นต้น
ไข้หวัดใหญ่จะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น
ปอดอักเสบ และปอดบวม
ไซนัสอักเสบ
หลอดลมอักเสบ
การติดเชื้อภายในหู
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายจนเสียชีวิตได้
นอกจากนี้โรคไข้หวัดใหญ่ยังมีผลให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด และโรคปอดเรื้อรัง มีอาการทรุดหนักลงอีกด้วย
อาจจะเริ่มจากการสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย หากมีไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย และอาจมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 1 - 2 สัปดาห์ ถ้าหากไม่ดีขึ้นหรือยิ่งมีอาการแย่ลงกว่าเดิม ควรเข้าพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอันตราย
โดยปกติแล้วสามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ โดยการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นไปตามอาการและขึ้นอยู่กับชนิดของสายพันธุ์ที่ผู้ป่วยเป็น เช่น หากผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไม่รุนแรง แพทย์จะให้รับประทานยาลดไข้ แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์จะให้รับประทานยาต้านไวรัสทันที ทำให้ลดการแพร่กระจายและบรรเทาอาการให้ดีขึ้น แต่การใช้ยาต้านไวรัส จะต้องพิจารณาดูความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
ไม่ใช้วัตถุสิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดมือ, หลอดดูดน้ำ, ผ้าเช็ดตัว, ช้อนส้อม เป็นต้น
ล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรคและป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและมีประโยชน์
ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน
ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ เพราะอาจจะทำให้ได้รับเชื้อไวรัสมาโดยไม่รู้ตัว
การฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ พร้อมลดโอกาสป่วย ความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน และอัตราการเสียชีวิตให้น้อยลง
ไข้หวัดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งโรคที่ทุกคนสามารถพบเจอได้บ่อยมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน หน้าหนาว หรือช่วงที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง รวมไปถึงการฉีดวัคซีนเพื่อลดโอกาสการเกิดอาการที่รุนแรง ภาวะแทรกซ้อน รวมไปถึงอัตราการเสียชีวิตให้น้อยลง หากท่านใดมีอาการผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และดำเนินการรักษาต่อไป
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง