ข้อเข่า ถือว่าเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย ประกอบกับภาระหน้าที่อันใหญ่หลวง ในการรองรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหว และการทรงตัว หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับข้อเข่า ใช่ว่าจะสร้างปัญหาความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย หลายคนอาจจะคิดว่าโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นปัญหาของคนแก่ แม้คุณจะยังไม่แก่ แต่แน่ใจแล้วหรือว่าตัวเองจะไม่เป็นโรคนี้
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่มักพบได้ในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าวัยทำงาน และวัยกลางคน มีแนวโน้มเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ซึ่งเกิดจากกระดูกผิวอ่อนของข้อเข่าสึกหรอ, มีโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไป หรือเสื่อมสภาพลง หากไม่ได้รับการรักษา และผู้ป่วยยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยง จะทำให้โรคนี้สะสมไปเรื่อย ๆ จนส่งผลให้ข้อเข่าผิดรูป และมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวในที่สุด
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประการ ดังนี้
อายุ ผู้ป่วยที่พบว่าเป็นโรคนี้มากที่สุด มักจะเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เพราะปัญหาข้อเข่าเสื่อมมักจะถูกสะสมมาเป็นเวลานาน
พฤติกรรมการออกแรง หรือการใช้งานเข่ามากเกินไป เช่น การนั่งพับเพียบ, การนั่งขัดสมาธิเป็นเวลานาน, การยกของหนัก และนักกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
อุบัติเหตุ ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่ามาก่อน เช่น เส้นเอ็นฉีกขาด, ข้อเข่าหลุด และกระดูกบริเวณเข่าหัก เป็นต้น
โรคประจำตัว ผู้ที่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ และโรคเกาต์มักจะพบว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมด้วย
อาการในระยะเริ่มแรก
ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกปวดเข่าเมื่อเคลื่อนไหว เช่น การเดินขึ้น-ลงบันได หรือการนั่ง เป็นต้น และมักจะได้ยินเสียงลั่นในข้อ
อาการรุนแรง
หากผู้ป่วยเริ่มรับรู้ได้ถึงอาการบวมร้อนของข้อ หรือรู้สึกเสียวบริเวณกระดูกสะบ้า หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน จะทำให้ข้อเข่าผิดรูป, เหยียด หรืองอเข่าไม่ได้ ส่งผลให้เคลื่อนไหวได้ไม่ถนัด
อาจเกิดอาการทางกระดูก และกล้ามเนื้อได้ เช่น ภาวะกระดูกตาย
เกิดความผิดปกติบริเวณข้อ เช่น เลือดออก, ติดเชื้อ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้ เช่น อาการติดเชื้อหลังการผ่าตัด ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วย
การรักษาแบบเบื้องต้น
ให้ออกกำลังกายที่ไม่ใช้ข้อเข่ามากจนเกินไป เช่น ว่ายน้ำ, เดิน เป็นต้น ให้รับประทานอาหารที่เหมาะสมกับรักษาน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน และหลีกเลี่ยงการใช้สเตียรอยด์
การรักษาด้วยยา
ได้แก่ ยาที่มีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวดเข่า เช่น สเตียรอยด์, ยาอะเซตามิโนเฟน เป็นต้น แต่หากใช้นานเกินไปอาจมีผลข้างเคียงตามมา หรือการทานอาหารเสริม แต่กรณีเลือกทานอาหารเสริม ควรตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อน นอกจากนี้ยังใช้วิธีการฉีดยาได้ด้วย เช่น กรดไฮยาลูโรนิก ที่มีคุณสมบัติช่วยให้สามารถขยับเข่าได้มากขึ้น
การรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดข้อเข่าซึ่งมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ ตัดให้ข้อเข่าชิดกัน, เปลี่ยนข้อเข่า และเปลี่ยนแนวกระดูก นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดข้อเข่าเทียมด้วย โดยการเลือกรูปแบบการผ่าตัด ต้องมาจากการปรึกษากับแพทย์เพื่อเลือกรูปแบบการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด
การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
เช่น การฝังเข็ม ซึ่งระยะเวลาในการรักษา จะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล วิธีการฝังเข็มอาจยังไม่สามารถรักษาข้อเข่าให้หายขาดได้ จึงจำเป็นต้องรักษาควบคู่ไปกับวิธีอื่นด้วย
การส่องกล้อง
แพทย์จะใช้วิธีการนี้ในผู้ป่วยรายที่ยังมีอาการไม่รุนแรงมากนัก เช่น รูปร่างขาของผู้ป่วยยังปกติ ไม่โก่ง, ไม่ล็อก, เวลางอเข่าแล้วเกิดติดขัดมาก เป็นต้น
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูก
เหมาะกับผู้ป่วยที่เข่ายังดี, ไม่โก่ง และลูกสะบ้ายังไม่มีการเสื่อมมาก โดยแพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนด้านในของข้อเข่า
การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก
หากผู้ป่วยมีอาการขาโก่งเล็กน้อย แพทย์จะผ่าตัด, ปรับกระดูก และใส่เหล็กดาม เพื่อผ่อนแรงของข้อ เหมาะกับผู้ป่วยที่อายุน้อย และยังมีอาการเข่าที่ยังไม่เสื่อมมาก
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการนี้ ในผู้ป่วยรายที่ต้องเปลี่ยนข้อกระดูกทั้งหมด โดยจะเป็นการนำข้อเข่าเทียมครอบกระดูกที่มีการเสื่อมไว้
การเล่นกีฬา
ควรเล่นกีฬาเบา ๆ และหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องมีการเข้าปะทะ โดยสามารถเริ่มทำกิจกรรมได้ หลังจากผ่าตัดเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน เมื่อแผลมีการแห้งสนิทแล้ว สามารถทำกิจกรรมอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น ว่ายน้ำ เป็นต้น
การขับรถ
จะขับรถได้หลังจากผ่าตัดผ่านไปประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อให้ข้อเข่าสามารถงอได้เป็นปกติ
การทำงาน
ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ผู้ป่วยทำ ถ้าเป็นงานที่หนัก และจำเป็นต้องใช้ข้อเข่า ควรรอประมาณ 3 เดือน หากเป็นงานเบา ไม่ต้องใช้แรงเยอะ อาจกลับไปทำได้ภายใน 6 สัปดาห์หลังจากผ่าตัด
การขึ้นลงบันได
หากเป็นการเดินขึ้น ให้ใช้ขาข้างที่เป็นปกติก้าวขึ้นก่อน แต่ถ้าเวลาลง ควรนำขาข้างที่ผ่าตัดก้าวลงก่อน หากผู้ป่วยมีการใช้ไม้ค้ำให้ระวังการล้มด้วย
การป้องกันเบื้องต้น คือ การดูแลตัวเองให้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย, รับประทานอาหารที่มีประโยชน์, ควบคุมน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน เช่น เมื่อมีอาการปวด สามารถประคบร้อน และเย็น รวมถึงทาครีม หรือเจลเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ ยิ่งเราดูแลสุขภาพให้ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ จะส่งผลให้เรามีอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกน้อยลงในอนาคต เนื่องจากปัญหาข้อเข่าเหล่านี้มีโอกาสเกิดมากขึ้นตามอายุด้วย
ข้อเข่าเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญต่อร่างกายของเราอย่างมาก หากเกิดความผิดปกติ และปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในอนาคต ยิ่งอายุเยอะจะยิ่งส่งผลมากขึ้น หากมีผู้ป่วยท่านใดที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย รักษา และรับคำแนะนำในการดูแลข้อเข่าจากแพทย์
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement)