โรคไอกรน
โรคไอกรน โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มักพบในเด็ก

 

บนโลกนี้ มีโรคร้ายที่ปะปนอยู่ภายในชีวิตประจำวันของมนุษย์เยอะแยะมากมาย แต่ความน่ากลัวของโรคหากเกิดกับผู้ใหญ่ว่าหนักแล้ว โรคที่มักเกิดกับเด็กจะมีความอันตรายกว่ามาก เพราะภูมิคุ้มกันยังไม่ได้แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ วันนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักกับหนึ่งในโรคที่มักเกิดขึ้นกับเด็กทารกและเด็กเล็ก แต่ผู้ใหญ่สามารถเป็นได้เช่นกัน คือ โรคไอกรน (Pertussis/Whooping Cough)

 

โรคไอกรน เกิดจากสาเหตุใด ? 

 

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bordetella pertussis (B.pertussis) ซึ่งเชื้อนี้มักพบที่บริเวณลำคอ โดยจะปะปนอยู่ในเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย 

 

 

การติดต่อของโรคไอกรน

 

โรคไอกรน มักระบาดในกลุ่มของเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยสามารถติดต่อได้ผ่านการหายใจเอาฝอยละอองเสมหะ หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่จามออกมา และลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยโรคไอกรนสามารถติดต่อได้อีกช่องทางผ่านการสัมผัสสิ่งของหรือวัตถุที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย แล้วมีการนำไปขยี้ตา, แคะจมูก อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน

 

 

ระยะฟักตัวของโรคไอกรน

 

ระยะฟักตัวของโรคไอกรน จะมีระยะเวลาอยู่ที่ประมาณ 6 - 20 วัน แต่ที่พบได้บ่อย คือ 7 - 10 วัน แต่ถ้าหากมีการใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วยผ่านมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าท่านไม่ได้ติดโรคนี้จากผู้ป่วย

 

 

อาการของโรคไอกรน 

 

  • มีไข้ต่ำ ไอแห้ง และในผู้ป่วยบางรายอาจจะเกิดอาการตาแดงขึ้นได้

 

  • น้ำมูกไหล คัดจมูก อาเจียน

 

อาการไอ

 

  • ไอถี่ติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 2 สัปดาห์

 

  • ขณะหายใจมีเสียงดัง 

 

  • หน้าเขียวหรือแดงหลังจากมีการไอ และรู้สึกเหนื่อย

 

  • หากเกิดอาการรุนแรง ในบางรายอาจมีภาวะหยุดหายใจเกิดขึ้นได้ 

 

โดยอาการที่กล่าวไปข้างต้น จะมีระยะเวลาของอาการประมาณ 1 - 4 สัปดาห์ แต่อาจจะมากกว่านี้ได้ ถ้าหากเข้าสู่ระยะฟื้นตัวแล้ว อาการไอจะเริ่มดีขึ้นหรือลดลง และจะหายได้เองภายใน 6 - 10 สัปดาห์

 

 

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคไอกรน

 

  • ระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ และยังเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตที่เกิดในเด็กเล็ก 

 

  • ระบบประสาทที่มักพบว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไอกรนในเด็ก คือ อาการชัก เพราะเกิดจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองขณะที่มีการไอ 

 

  • หากมีการไอมาก ๆ อาจเสี่ยงทำให้มีเลือดออกในเยื่อบุตาได้ 

 

 

การวินิจฉัยโรคไอกรน

 

  • การตรวจเลือด เพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานที่มีต่อเชื้อไอกรน 

 

  • การตรวจสารพันธุกรรมด้วยการใช้เทคนิค PCR 

 

  • การเพาะเชื้อ

 

ใช้เครื่องตรวจฟังปอด

 

  • ในผู้ป่วยบางรายอาจใช้เครื่องตรวจฟังปอดเพื่อวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดหรือหลอดลมอักเสบ เป็นต้น

 

 

การรักษาโรคไอกรน

 

รักษาตามอาการ

 

  • การรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้, พักผ่อนให้เพียงพอ, ดื่มน้ำอุ่น, นำเด็กไปในห้องที่มีอากาศถ่ายเท จะช่วยบรรเทาอาการได้ในระดับหนึ่ง

 

  • การให้ยาปฏิชีวนะ โดยจะได้ผลการรักษาที่ดีในช่วง 2 - 3 วันแรกหลังจากมีอาการ แต่หลังจากมีอาการเกิน 1 - 2 สัปดาห์ ยาปฏิชีวนะจะมีประสิทธิภาพลดลง

 

  • รับประทานอาหารมื้อเล็ก เพื่อไม่ให้เกิดการอาเจียนหลังจากไอ

 

  • ในเด็กที่มีอาการรุนแรง ควรได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด หากผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ แพทย์จะมีการให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ

 

 

การป้องกันโรคไอกรน

 

ล้างมือ

 

  • การดูแลสุขอนามัย เช่น การล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่มีการสัมผัสกับสิ่งของหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

 

  • ปิดปากทุกครั้งด้วยกระดาษทิชชูหากมีการไอหรือจาม และควรทิ้งกระดาษทิชชูลงถังขยะทันที

 

  • หากไม่มีกระดาษทิชชู ควรไอหรือจามใส่ข้อพับแขน ไม่ควรใช้มือปิดปาก เพราะอาจนำมือไปสัมผัสกับสิ่งอื่นต่อ และอาจเป็นการแพร่กระจายเชื้อต่อได้

 

  • การฉีดวัคซีน ซึ่งโดยปกติแล้ววัคซีนจะบรรจุรวมกัน 3 โรค คือ คอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก เพื่อป้องกันการเกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคได้

 

 

โรคไอกรน เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรงอย่างมากในเด็กเล็ก แต่ไม่ใช่ว่าโรคนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ใหญ่ ซึ่งความน่ากลัวของโรคหากเกิดกับเด็ก คือ อาการและภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ศูนย์ตรวจสุขภาพ

 

วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก

 

วัคซีนเด็ก ควรได้รับชนิดไหน ช่วงอายุเท่าไหร่บ้าง