ดวงตา คือ อวัยวะที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในร่างกาย เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่รับเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่มีอุปกรณ์ใดสามารถป้องกันได้ โดยช่วงหน้าฝนจะมีโรคหนึ่งเกี่ยวกับดวงตาที่มักจะระบาดในทุกปี นั่นคือ โรคตาแดง
โรคตาแดง (Pink Eye, Conjunctivitis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสในกลุ่ม อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถกระจายตัวได้ง่าย ส่งผลให้เกิดการติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคนบุคคลหนึ่งได้
การสัมผัสน้ำตาหรือขี้ตาของผู้ป่วย แล้วมีการนำอวัยวะนั้นมาสัมผัสที่ดวงตา เช่น การขยี้ตา เป็นต้น
ใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น เครื่องสำอาง แว่นตา หรือผ้าเช็ดตัว
การไอ จาม และการหายใจรดกัน
มีสัตว์ประเภทที่เป็นพาหะของโรค เช่น แมลงหวี่ และแมลงวันมาตอมหรือเข้าตา
เล่นน้ำในพื้นที่ที่เป็นน้ำท่วมขัง สกปรก
ไม่รักษาความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้ากับมือ
โดยโรคตาแดงนั้นสามารถติดต่อได้ง่าย และมีความรวดเร็ว ซึ่งระยะติดต่อที่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ คือ 2 สัปดาห์ โดยผู้ที่ได้รับเชื้อจะเริ่มแสดงอาการหลังได้รับเชื้อมาแล้ว 2 - 14 วัน
ชนิดอันตรายน้อย
เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบ เจ็บ ระคายเคืองดวงตา และผู้ป่วยยังต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นด้วย
โรคภูมิแพ้เยื่อบุตา จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์ หรือฝุ่น เป็นต้น อาจส่งผลให้มีอาการตาบวม แดง คัน ระคายเคือง และมีน้ำตาไหลได้
ต้อลม, ต้อเนื้อ เมื่อเยื่อบุตาได้ถูกกระตุ้นจากปัจจัยอื่น ให้เกิดการระคายเคืองเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เยื่อบุตาเกิดการหนาตัวขึ้น แล้วยื่นไปที่บริเวณกระจกตา ส่งผลให้มีการบดบังการมองเห็นหรือสายตาเอียงเกิดขึ้น มักพบในกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งหรือเจอมลภาวะเป็นประจำ
เลือดออกใต้เยื่อบุตา เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง การขยี้ตาบ่อย การจามหรือไออย่างรุนแรง เป็นต้น ซึ่งโรคตาแดงชนิดนี้จะพบได้บ่อยแต่ไม่เป็นอันตราย สามารถหายเองได้ภายใน 1 - 2 สัปดาห์
ชนิดอันตรายมาก
ต้อหินชนิดมุมปิดเฉียบพลัน หากความดันภายในลูกตามีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอาการตาแดงตลอดเวลา รูม่านตาขยายใหญ่ขึ้นแต่ไม่ตอบสนองต่อแสง หรือตามัว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้
ม่านตาอักเสบ โดยผู้ป่วยจะมีอาการแพ้แสง ตาแดง และปวดตา ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการร่วมทางร่างกายได้ เช่น ผมร่วง ปวดตามข้อ เป็นผื่นแพ้แสงที่ผิวหนัง เป็นต้น
กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อ หากมีการสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรีย และมีการนำมาสัมผัสดวงตาต่อ ถ้าเชื้อทะลุเข้าไปภายในกระจกตาจนเกิดความเสียหาย อาจทำให้มีความรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดกับกระจกตาทะลุได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดงชนิดนี้ ควรได้รับการรักษาทันที
อาการของโรคตาแดง มักจะเป็นเพียงข้างเดียวก่อน แล้วจะลามไปอีกข้างในอีก 2-3 วัน เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะเป็นประมาณ 10-14 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อจะเกิดอาการขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยอาการที่แสดงออกมา เช่น
เยื่อบุตา (ส่วนที่เป็นตาขาว) เกิดการอักเสบ บวมแดง น้ำตาไหล
มีอาการคัน แสบ เจ็บปวด รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในดวงตา
หากมีการติดเชื้อของแบคทีเรีย อาจทำให้ขี้ตามีสีเหลือง
เปลือกตามีอาการบวมแดง
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายเป็นหวัดร่วมอยู่ด้วย
หลังจากเกิดโรคตาแดงแล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการกระจกตาอักเสบ เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ลุกลามไป ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเคืองตา มีอาการตามัว เกิดฝ้าขาวที่กระจกตาดำได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากเป็นโรคตาแดงแล้ว 7 - 10 วัน โดยอาการนี้อาจจะเป็นนานถึง 1 - 2 เดือน
ใช้น้ำตาเทียมหยอด เพื่อลดการระคายเคืองของดวงตา
หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ให้ใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตา ซึ่งผู้ป่วยควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการใช้ยาปฏิชีวนะ
ใช้น้ำเกลือทำความสะอาดเปลือกตา
หากเป็นตาแดงจากอาการแพ้ ควรรับประทานยาแก้แพ้
ให้ประคบร้อนหรือเย็นที่ดวงตา เพื่อลดอาการปวดบวม
หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและพลุกพล่าน
หากเกิดอาการตาแดงขึ้น ควรหยุดพักการเรียนหรือการทำงานจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
ล้างมือบ่อย ๆ เมื่อมีการไปสัมผัสกับสิ่งของหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น
สวมใส่แว่นกันแดด กันลม
ไม่ควรขยี้ตาบ่อย ๆ
หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสอบว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นหรือไม่
โรคตาแดงแม้จะเป็นแล้วสามารถหายเองได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ หรือปล่อยให้ติดเชื้อเป็นเวลานาน อาจจะส่งผลต่อดวงตา ทำให้เกิดโรคต้อหิน ต้อลม ม่านตาอักเสบได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ดังนั้น หากพบว่าตนเองเป็นโรคตาแดงควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง