ต่อมไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์ ต่อมแห่งการควบคุม

ไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ ใต้ลูกกระเดือก มีลักษณะคล้ายคลึงกับปีกผีเสื้อ และมีน้ำหนักประมาณ 20 กรัม หากเกิดโรคที่มีผลต่อต่อมไทรอยด์จะทำให้การผลิตฮอร์โมนไม่คงที่ และส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ โดยส่วนมากจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 

 

หน้าที่ของต่อมไทรอยด์

 

ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย รวมไปถึงมีหน้าที่ในการควบคุมพลังงานในร่างกายและมีผลต่อการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ อีกด้วย โดยส่วนมากจะมีผลต่อสมองและหัวใจมากที่สุด ซึ่งฮอร์โมนนี้จะอยู่ในการควบคุมของสมองส่วนไฮโปธาลามัสและต่อมใต้สมอง เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้มีผลต่อร่างกายมาก หากเกิดความผิดปกติกับต่อมไทรอยด์ก็จะส่งผลต่อภาพรวมของร่างกายตามไปด้วย

 

ไทรอยด์

 

โรคไทรอยด์ที่พบบ่อย

 

  • โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือไทรอยด์ทำงานมากเกินไป สาเหตุของโรคเกิดจากความบกพร่องของภูมิคุ้มกันที่สร้างสารแอนติบอดีซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากกว่าปกติ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการใจสั่น น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย เหงื่อออกเยอะ เป็นต้น การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการให้ยาซึ่งมีฤทธิ์ระงับการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ การกลืนน้ำแร่ไอโอดีน หรือการผ่าตัด

  • โรคคอพอก เป็นภาวะที่ต่อมบริเวณลำคอใต้ลูกกระเดือกมีขนาดใหญ่ หรือบวมผิดปกติ สาเหตุของโรคเกิดจากการได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ อาการที่พบ คือ หายใจลำบาก แน่นในลำคอ ไอ เสียงแหบ และกลืนอาหารลำบาก ส่วนการรักษาจะคล้ายกับการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ คือ รับประทานยา การผ่าตัด และการกลืนแร่

  • โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ เกิดจากฮอร์โมนในเลือดมีระดับต่ำกว่าปกติเพราะต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนน้อย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการเฉื่อยช้า ง่วงนอน น้ำหนักขึ้น เป็นต้น การรักษาจะเป็นการให้รับประทานยาเพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์

  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ในต่อมไทรอยด์มากผิดปกติ แม้จะไม่แสดงอาการแต่อาจสังเกตได้จากการคลำแล้วพบก้อนบริเวณลำคอ เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันทางกรรมพันธุ์ ส่วนการรักษานั้นแพทย์จะพิจารณาขึ้นอยู่กับชนิดของโรค 

 

การป้องกันและดูแลต่อมไทรอยด์

 

  • ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น เป็นไข้ น้ำหนักลด หรือน้ำหนักขึ้นอย่างผิดปกติ เหงื่อออกง่าย ควรรีบเข้าพบแพทย์

  • ทานอาหารที่ปรุงสุกให้ครบ 5 หมู่

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

 

การดูแลป้องกันโรคทางไทรอยด์สามารถทำได้ง่ายก็จริง แต่หากละเลยก็อาจทำให้มีความเสี่ยงได้ไม่มากก็น้อยเช่นกัน หากพบความผิดปกติ เช่น มีไข้น้ำหนักลด เหงื่อออกมากผิดปกติให้รีบเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาต่อไป