หนึ่งในอวัยวะที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคที่ผ่านเข้ามาในลำคอ หรือผ่านเข้ามาทางการหายใจให้กับร่างกายของเรา คงจะหนีไม่พ้นต่อมทอนซิล (Tonsils) ถึงแม้ว่าอวัยวะส่วนนี้จะมีหน้าที่ในการคัดกรองเชื้อโรคให้กับเรา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอวัยวะส่วนนี้จะติดเชื้อโรคไม่ได้ และหากเกิดการติดเชื้อ อาจนำไปสู่โรคที่มีชื่อว่า ทอนซิลอักเสบ
จากที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่าต่อมทอนซิล ทำหน้าที่คัดกรองเชื้อโรคต่าง ๆ ภายในลำคอ ทำให้อวัยวะส่วนนี้ต้องต่อสู้กับแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสหลากหลายชนิด จึงส่งผลให้อวัยวะส่วนนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้ต่อมทอนซิลยังสามารถติดเชื้อจากการรับเชื้อมาจากผู้อื่น เช่น การเข้าใกล้ผู้ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วการติดเชื้อมักมาจากไวรัสหลายชนิด ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่มักเป็นสาเหตุของโรคนี้มีชื่อว่า สเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Group A Streptococcus) แต่ว่าโรคนี้มักพบได้น้อยในผู้ใหญ่ และสามารถพบในเด็กเล็กมากกว่า เนื่องจากเป็นวัยที่อยู่ในช่วงเติบโตที่ต้องเผชิญกับเชื้อโรครอบตัวจากการใช้ชีวิต
อาการของโรคนี้สามารถสังเกตให้เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลำคอ เช่น
มีอาการเจ็บข้ออย่างรุนแรงเป็นเวลานาน
กลืนลำบาก หากกลืนจะมีอาการเจ็บในลำคอ
เสียงเปลี่ยนไป เช่น เสียงแหบ เป็นต้น
ปากมีกลิ่นเหม็น
ต่อมทอนซิลมีอาการบวมแดง และมีจุดหรือชั้นบาง ๆ เกิดขึ้นบนต่อมทอนซิล
นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่
มีไข้, ปวดศีรษะ
ปวดหู, ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาจมีอาการตาแดง
คัดจมูก แต่น้ำมูกไม่เยอะ และมีสีใส
ในเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
เนื่องจากอวัยวะดังกล่าวอยู่บริเวณลำคอ จึงสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกายได้หลายกรณี ดังนี้
ภาวะทางการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หรือหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนกับเด็ก หากไม่ได้รับการรักษา หรือดูแลจนหายขาด สามารถทำให้เกิดโรคได้ เช่น ไข้รูมาติก หรือกรวยไตอักเสบ เป็นต้น ทั้งนี้การเกิดโรคในเด็ก เกิดจากแบคทีเรียสเตร็ปโตคอสคัส (Streptococcus) นั่นเอง
หากเป็นการอักเสบจากเชื้อไวรัส สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 7-10 วัน แต่ถ้าหากมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย จะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือรับประทานยาแก้ไข้ร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยการฉีดยาในผู้ป่วยรายที่มีอาการรุนแรง หรือต่อมทอนซิลเป็นหนอง
อย่างที่เราทราบกัน ว่าต่อมทอนซิลทำหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ในร่างกาย หากต่อมทอนซิลเกิดการอักเสบเรื้อรังจนไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้เหมือนเดิม ต่อมทอนซิลจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคไปโดยปริยาย การผ่าตัดจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้รักษาอาการต่อมทอนซิลอักเสบให้หายขาด
โดยแพทย์จะพิจารณาการผ่าตัด ในกรณีต่อไปนี้
ผู้ป่วยมีภาวะเป็นต่อมทอนซิลหลายครั้ง หรือเป็นเรื้อรังจนส่งผล กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนกรน, มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมทอนซิล หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ผู้ป่วยเคยเป็นฝีที่ต่อมทอนซิลมาก่อน
ทางโรงพยาบาลเพชรเวช มีบริการผ่าตัดต่อมทอนซิลที่เจ็บน้อยกว่า และฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อผู้ป่วยผ่าตัดเสร็จแล้ว สามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องนอนที่โรงพยาบาล
ให้นอนตะแคง หรือนอนในท่าศีรษะสูง เพราะจะทำให้ไม่เกิดการสำลักเลือด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่าตัดในระยะแรก
หากมีเลือดออกจากช่องปาก ควรรีบแจ้งแพทย์ และให้อมน้ำแข็งบ่อย ๆ เพื่อลดอาการบวม และปวดบริเวณแผลผ่าตัด
ห้ามใช้อุปกรณ์ใด ๆ เขี่ยแผลเด็ดขาด
ไม่ควรไอ หรือขากเสมหะแรง เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่าย
ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเจ็บคอ และปวดแผลผ่าตัดเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
แผลในลำคออาจจะเป็นสีขาวหลังผ่าตัด เกิดจากการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของร่างกาย
พักผ่อนให้เพียงพอ
รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบ
ช่วง 1-2 วันแรก ควรทานอาหารชนิดน้ำ เช่น นมเย็น, โยเกิร์ต และไอศกรีม หลังจากนั้นสามารถรับประทานอาหารอ่อนได้ เช่น ข้าวต้ม, โจ๊ก เป็นต้น
งดรับประทานอาหารร้อน, รสจัด และแข็ง
หลีกเลี่ยงการใช้เสียงดัง, การกระแอม และการตะโกน
หลายคนอาจเข้าใจว่าถ้าเจ็บคอ หรือเป็นไข้ ควรรับประทานน้ำอุ่น และหลีกเลี่ยงของเย็น เพราะจะทำให้หายช้า แต่ความเชื่อนั้นใช้ไม่ได้กับการเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ หากเราเป็นแผลอักเสบแล้วนำของร้อนมาเทใส่แผล ย่อมส่งผลให้ยิ่งอักเสบมากขึ้น ทางที่ดีในการช่วยบรรเทาอาการปวดจากต่อมทอนซิลอักเสบ คือ การกินไอศกรีมช็อกโกแลต หรือไอศกรีมดาร์กช็อกโกแลต เพราะในโกโก้จะมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ฟลาโวนอยด์” ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย
โรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย แต่เราควรให้ความสำคัญกับเด็กเล็กที่มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าผู้ใหญ่ ด้วยการให้เด็กได้เรียนรู้การปฏิบัติตัวด้วยสุขอนามัยที่ดี เช่น
ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อน และหลังการทำกิจกรรมทุกอย่าง
ไม่ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน, แปรงสีฟัน และแก้วน้ำ เป็นต้น
หากเคยป่วยเป็นทอนซิลแล้วให้เปลี่ยนแปรงสีฟันที่เคยใช้ทันที
แม้โรคต่อมทอนซิลอักเสบ จะสามารถรักษาให้หายเองได้ โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากเกิดการอักเสบเรื้อรัง และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน และส่งผลเสียต่อร่างกายตามมา หากท่านพบว่าตนเองมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องทันที ก่อนที่โรคธรรมดาจะกลายเป็นโรคร้ายจนเกินเยียวยาในที่สุด
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy)