เป็นเกมเมอร์เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
เป็นเกมเมอร์เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

ในปัจจุบัน 1 ในความบันเทิงที่หลายคนใช้ฆ่าเวลา หรือผ่อนคลายยามเครียดจากงานหรือการเรียน นอกจากจะดูหนัง ฟังเพลง การเล่นเกมยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่นอกจากความบันเทิงที่จะได้รับแล้ว รู้หรือไม่ว่ายังมีอาการ หรือโรคที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเล่นเกมเป็นเวลานาน เช่น อาการสายตาอ่อนล้า อาการปวดข้อมือ โรคอ้วน โรคทางหัวใจ และภาวะไม่ชอบเข้าสังคม เป็นต้น

 

เล่นเกมนานเพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด

 

อาจดูร้ายแรงเกินไป แต่การเล่นเกมเป็นเวลานานสามารถส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือดทางอ้อมได้ เนื่องจากร่างกายที่ไม่เคลื่อนไหวมากพอส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ จนเกิดลิ่มเลือดอุดตันตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายได้ เช่น ต้นขา และปอด นอกจากนี้การเล่นเกมบางประเภทสามารถเร่งอัตราการเต้นของหัวใจได้ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นในเวลาต่อมา และอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด “โรคหลอดเลือดหัวใจ” 1 ในโรคทางหัวใจที่มีอันตรายถึงชีวิต แต่รักษาได้ด้วยเทคโนโลยีในห้อง Cath Lab

 

อาการปวดตามร่างกายจากการนั่งโดยไม่ขยับตัว

 

อาการปวดที่เกิดขึ้น เกิดจากการนั่งทำกิจกรรมหนึ่ง ๆ เป็นเวลานาน ไม่เพียงแต่การนั่งเล่นเกมเท่านั้น ความเสี่ยงของอาการปวดตามร่างกายยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานโดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากนักในช่วงเวลาทำงาน อาการปวดสามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งไม่แตกต่างกับ “โรคออฟฟิศซินโดรม” ได้แก่

 

  • ข้อมือ อาการปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปล่อยเอาไว้บางครั้งสามารถหายเองได้ บางครั้งอาจต้องใช้เวลาจนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่หากปล่อยให้เกิดบ่อยครั้งอาการปวดเล็ก ๆ เหล่านี้อาจกลายเป็นสัญญาณอันตรายของ “โรคเอ็นข้อมืออักเสบ” ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
  • หู หลายคนอาจสวมหูฟังอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการปวดซึ่งเกิดจากเยื่อบุแก้วหูเกิดความเสียหาย และอาจร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการได้ยินได้
  • หลัง และไหล่ อาการปวดพื้นฐานของการนั่งอยู่จุดเดิมเป็นเวลานานโดยไม่ขยับร่างกาย ทำให้กระดูกสันหลังต้องทำงานหนักกว่าปกติ จนอาจทำให้กระดูกสันหลังเกิดการผิดรูป
  • ตา เกิดอาการปวดล้าทางสายตา เนื่องจากเลนส์ตาทำงานร่วมกับสมองอย่างหนัก ส่งผลให้เราเห็นภาพเบลอ หรือมองจุดสีได้ไม่ชัด อาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นเป็นเวลานานควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

 

โรคของคนเล่นเกม

 

โรคอ้วนคู่โรคขาดสารอาหาร

 

พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเล่นเกมเป็นเวลานาน คือ “ทานมากเกินไป” หรือ “ทานน้อยเกินไป”  นำมาซึ่งโรคอ้วน และโรคขาดสารอาหารในที่สุด แต่ที่อันตรายยิ่งกว่าดูเหมือนจะเป็นโรคอ้วน เนื่องจากโรคอ้วนเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรงหลายโรค การเป็นโรคอ้วนจะส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดสาเหตุของการเกิดโรคทางหัวใจหลายโรคตามมา โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวานที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

 

ไม่จัดสรรเวลาอาจส่งผลต่อสภาวะทางสังคม

 

หากไม่กำหนดเวลาเล่นเกมแต่พอดี เวลาที่เราใช้จ่ายไปนั้นอาจมากเกินไปจนทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางสังคม และบุคคลรอบข้าง ได้แก่

 

  • ปัญหาการเข้าสังคม การพูดคุยกับเพื่อนในเกมอาจพอช่วยได้ในเรื่องนี้ แต่ยังมีอีกหลายคนที่นั่งเล่นเกมคนเดียว และไม่ได้ออกไปเจอผู้คนข้างนอก ส่งผลให้เวลาต่อมาเมื่อจำเป็นที่ต้องเข้าสังคมอาจปฏิบัติตัวไม่ถูก และไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้
     
  • ปัญหาด้านอารมณ์ เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงเกมได้ รวมถึงเยาวชนที่อาจเล่นเกมโดยปราศจากการแนะนำจากผู้ปกครอง เด็กอาจเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมในเกมที่ตนเองเล่นอยู่ เพราะมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะส่งผลร้ายตามมาในภายหลังได้
     
  • ปัญหาในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นได้หลายด้านทั้งด้านการเงิน หรือด้านการเรียน เยาวชนหลายคนอาจไม่สามารถจัดสรรเวลาในการเล่นจนกระทบกับการเรียน หรือการใช้เงินในการเล่นเกมเกินความรับผิดชอบของตนเอง และไม่สามารถควบคุมได้ พฤติกรรมเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลจะส่งผลต่ออนาคตในภายภาคหน้าได้

 

หากเป็นโรคร้ายไปแล้วควรทำอย่างไร

 

โรคหลายโรคแก้ปัญหาไม่ยาก เช่น อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หากเรารู้สึกว่าร่างกายของเรามีสัญญาณเตือนถึงสภาวะผิดปกติทั้งอาการปวด ชา แม้จะเพียงเล็กน้อย ให้เราพยายามพักผ่อนร่างกาย เช่น หยุดเล่นเกมก่อน เพื่อให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ แต่สำหรับโรคบางโรคที่ไม่สามารถปล่อยให้หายเองได้ และมีความร้ายแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป ได้แก่

 

  • โรคทางหัวใจ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคชนิดใด ซึ่งสามารถตรวจได้หลายวิธี เช่น ECHO EST เป็นต้น หากพบว่ามีโรคหัวใจจริง แพทย์จะทำการรักษาต่อไป ยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติยิ่งเร็วขึ้นเท่านั้น การรักษาโรคทางหัวใจสามารถรักษาได้ผ่านห้องปฏิบัติการสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cath Lab)
     
  • โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ทั้ง 2 โรคนี้รักษาได้โดยการพบแพทย์ โรคอ้วนยังเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเบาหวาน ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้ด้วยการรับสารอินซูลินเพื่อช่วยย่อยน้ำตาลในเลือด ร่วมกับการทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารติดมัน และหมั่นออกกำลังกายเพื่อลดเชื้อเบาหวานไม่ให้กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ

 

เล่นเกมอย่างไรให้ห่างไกลโรคร้าย

 

การเล่นเกมไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่ต้องแบ่งเวลาเล่นไม่ให้มากจนเกินไป เพราะในชีวิตประจำวันของเราต้องแบ่งไปทำกิจกรรมอื่นด้วย เช่น

 

  • แบ่งเวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาการเข้าสังคม
     
  • แบ่งเวลาออกกำลังกาย หรือพักสายตาเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างเล่นเกม
     
  • ดูแลเรื่องการทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ พยายามลดขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม
     
  • เมื่อรู้ตัวว่าร่างกายเริ่มผิดปกติให้พักผ่อนจนกว่าอาการจะหายดี
     

ถึงแม้ตลอดการเล่นเกมจะมีอันตรายซ่อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ในหลายครั้งการเล่นเกมอาจมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก และยังเป็น 1 ในเครื่องมือสร้างสายสัมพันธ์กับครอบครัวหากเลือกเล่นเกมถูกประเภท ภายใต้เวลาที่เหมาะสม และไม่ละเลยสุขภาพ