ORANUCH POVICHIAN
Dr.ORANUCH POVICHIAN
Specialty : Pediatrics
Sub Specialty :
ทำการนัดหมายแพทย์ท่านนี้
Doctor Profile
Education
Faculty of Medicine, Siriraj Hospital Mahidol University
-

Degree
Pediatrics, Phramongkutklao Hospital
1996

Schedule (2024-11-25 ถึง 2024-12-01)
SUN
MON
TUE
WED
THU
FRI
SAT

แรงบันดาลใจสู่อาชีพหมอ

 

ด้วยความที่ครอบครัวเป็นหมอ เลยเป็นแรงบันดาลใจในการอยากเป็นหมอค่ะ  ซึ่งตัวหมอเองก็ไม่ได้คิดที่จะเป็นอย่างอื่นเลยนอกจากอาชีพนี้ พอถึงช่วงที่ต้องสอบเอนทรานซ์ก็เลือกหมอ 5 อันดับแรก แล้วมาติดที่ศิริราช ตอนเรียนก็ไม่ใช่คนเรียนเก่งมาก เรียกว่าเป็นเด็กที่เรียนกลาง ๆ พอใช้ได้ ก็มีความสุขในแบบเด็กมหาวิทยาลัยทั่ว ๆ ไป หมออาจจะแตกต่างกับเด็กในบางครอบครัวที่เห็นคุณพ่อคุณแม่เป็นหมอแล้วไม่มีเวลาพักเลย เด็กก็จะไม่เอาไม่อยากเป็นหมอ แต่กับตัวหมอไม่ใช่ ตั้งแต่เล็กได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ไปอยู่เวร ก็จะลากกระเป๋าไปอยู่เวรด้วย อย่างลูกชายของหมอตอนนี้เขาก็บอกเลยว่าอยากเป็นหมอทหารแบบคุณพ่อ หลาย ๆ คนจะบอกว่าเป็นงานที่เหนื่อย แต่หมอก็ไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อยนะคะ คงเพราะเป็นงานที่ชอบ ถึงจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ใจเต้นตุ๊บตั๊บบ้าง เป็นห่วงเด็กบ้าง แต่ด้วยความที่ชอบสิ่งนี้มาแต่ไหนแต่ไร หมอจึงมีความสุขกับการทำงานตรงนี้มาก

 

ทำไมต้องหมอเด็ก

 

เหตุผลสั้น ๆ เพราะชอบเด็กค่ะ เขาน่ารัก ไม่ซับซ้อน ถ้าหายเขาจะหายดี เป็นที่ชื่นชมของคุณพ่อคุณแม่ เวลาที่ได้พูดคุยกับเขาก็จะสนุกสนาน เรื่องนี้ก็แล้วแต่บางคนนะ บางคนเวลาตรวจเด็กก็จะกลัวเพราะตรวจลำบาก วุ่นวาย แต่บังเอิญตัวหมอคลิกกับเด็ก ตรวจแล้วไม่วุ่นวาย เหมือนเคมีตรงกับเด็ก แล้วเด็ก ๆ เขาน่ารักน่าเอ็นดู เวลารักษาก็มักจะไม่ได้เป็นโรคซับซ้อน อย่างผู้ใหญ่ถ้ามีอาการ 1 อาการเขาอาจจะมีโรค 3 โรคซ้อนอยู่ในนั้น แต่ถ้าเด็กจะเป็นอย่างมากก็โรคเดียว เวลารักษาก็ไม่ต้องซับซ้อนมาก ถ้าผู้ใหญ่เวลาที่เขาปวดศีรษะ อาจจะมีทั้งเบาหวาน ความดัน โรคไต อยู่ในตัวเขา ตรงข้ามกับเด็ก  เวลาเขาปวดศีรษะเขาอาจจะเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา  แล้วด้วยความชอบเด็กจึงทำให้เลือกเป็นหมอเด็กและมีความสุขกับงานดูแลเด็กค่ะ 

 

คุณสมบัติสำคัญของหมอเด็ก 

 

อย่างแรกเลยต้องชอบและมีใจรักเด็กค่ะ คือคนที่จะทนทานต่อเด็กได้ก็ต้องมีใจรักเด็กอยู่แล้ว ทนต่อเสียงร้องไห้ได้ มีความพยายามในการค้นหาคำตอบที่ต้องการ อย่างเวลาหมอตรวจเด็ก ๆ บางทีเราจะไม่สบตาเขา เพราะถ้าเผลอไปสบตาเขาหรือจ้องหน้านาน ๆ เขาก็จะกลัวในทันที ยิ่งในกลุ่มเด็กที่ตั้งท่าจะร้องไห้ พอเผลอจ้องปุ๊บเขาก็จะร้องทันที เราจะใช้วิธีพูดคุยกับพ่อแม่มากกว่า แล้วสังเกตอาการเขาเวลาที่เขาเผลอ ปล่อยให้เด็กชินกับสภาพแวดล้อมไป ซึ่งคุณหมอแต่ละท่านก็จะใช้วิธีการตรวจแตกต่างกันออกไป

นอกจากนั้นเรื่องสำคัญก็การเติมความรู้ใหม่อยู่เสมอ เพราะความรู้เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ต้องพยายามเสิร์ชหาความรู้ใหม่ ๆ เพราะความรู้สมัยที่เริ่มทำงานแรก ๆ กับความรู้ตอนนี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว หมอเองก็ต้องอัพเดทตัวเองตลอดเวลาด้วย 

 

เทคนิคสื่อสารกับเด็กเล็ก

 

จริง ๆ หมอก็สื่อสารไม่ได้หรอก เพราะเด็กก็ไม่สามารถสื่อสารกับเราได้ ต้องอาศัยความเคยชิน ดูหน้าตาเด็กอาจจะไม่ได้ป่วยนะ ถ้าตรวจร่างกายแล้วปกติ ก็จะบอกคุณพ่อคุณแม่รอดูอาการลูกสักนิดหนึ่ง เด็กอาจจะไม่ได้เป็นไรมาก แค่งอแงตามภาษา ต้องใช้วิธีสังเกตอาการว่าเด็กเป็นยังไง ตรวจร่างกายทั้งหมดเอา เด็กไม่ได้มีอะไรที่ดูอันตรายก็อาจจะต้องรอดูนิดหนึ่ง แล้วคอนเฟิร์มกับคุณพ่อคุณแม่ว่าลูกไม่เป็นอะไร สมัยก่อนจะเจอบ่อยมาก อุ้มมาตอนทุ่ม 2 ทุ่ม ลูกร้องไห้ไม่หยุด แต่จริง ๆ เด็กไม่ได้เป็นอะไรเลยแค่อาการของโคลิก พอมาถึงก็จะตรวจร่างกายแล้วรอดูอาการซักพักหนึ่ง บางทีเด็กก็จะหลับเองได้ ไม่รู้โชคดีของหมอหรือเปล่า อาจจะเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ตกใจ เด็ก ๆ ก็จะรู้สึกไปด้วย พอมาถึงมือหมออาการเหล่านี้ก็จะหายไป พ่อแม่ผ่อนคลายลูกก็จะผ่อนคลายไปด้วยแล้วหลับไป

 

อีกบทบาทของการเป็นแม่ลูกสอง

 

สำหรับการเป็นแม่ หมอจะแบ่งเวลาชัดเจน ถ้าเวลางานก็คือเวลาของโรงพยาบาลเลย แต่ถ้าออกจากโรงพยาบาลไปนั่นก็จะเป็นเวลาของครอบครัว ก็จะอยู่กับครอบครัว อยู่บ้านวุ่นอยู่กับลูก จ้ำจี้จ้ำไชลูก ทำการบ้านหรือยัง อ่านหนังสือหรือยัง เวลาของครอบครัวก็จะเต็มที่กับการเป็นแม่

 

แม่กับหมอ ... สองบทบาทที่เอื้อกัน 

 

การเป็นหมอกับแม่ประสบการณ์ทั้งสองนำมาใช้ด้วยกันได้ค่ะ พ่อแม่จะคาดหวังกับลูกสูงกว่าหมอ แต่หมอจะไม่ได้คาดหวังกับเด็กสูงขนาดนั้น หมอก็จะเรียนรู้ว่าเราต้องไม่คาดหวังกับลูกมาก จะไปเข้มงวดกับลูกมากไม่ได้ ถ้าเกิดคาดหวังกับเขามากไปแล้วผลที่ได้ออกมาไม่เป็นตามที่ต้องการก็จะมีปัญหาตามมา ส่วนการเป็นแม่ก็ทำเข้าใจความรู้สึกของแม่ว่ารักลูก ห่วงลูกมาก ก็จะทำงานกับแม่ด้วยความเข้าใจกันมากขึ้น เรียกว่าได้นำเอาประสบการณ์ของทั้ง 2 ฝั่งมาใช้ร่วมกัน ซึ่งก็จะทำให้เราใจเย็นลงเวลาที่คุยกับลูก และเข้าใจพ่อแม่และรักเด็กเพิ่มขึ้น

 

ฝากถึงพ่อแม่รุ่นใหม่

 

หมออยากฝากเรื่องเทคโนโลยี เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่ก็เหนื่อยอยู่แล้ว แต่ยังไงก็ตามการมีเวลาให้ลูกก็จะเป็นความสุขของเด็ก ๆ  คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทน มานะพยายามในการมีเวลาให้เขา เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กมากทั้งทางอารมณ์ สังคม เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามที่จะควบคุมสิ่งนี้ให้ได้และใช้ให้พอดี เมื่ออยู่บ้านคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามไม่ใช้โทรศัพท์ เล่นกับลูกให้มาก คุยกับเขาให้เยอะ ลองหาสิ่งที่เขาชอบ ให้อยู่ใกล้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็นจะดีที่สุดค่ะ  

 

ได้ทำความรู้จักคุณหมอกันเพิ่มมากขึ้นแล้ว แต่หากคุณพ่อคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพของลูก สามารถเข้ามาพบกับคุณหมอที่โรงพยาบาลเพชรเวชได้เลยค่ะ