พยาธิใบไม้ตับ
สาระน่ารู้เรื่อง "พยาธิใบไม้ตับ"

 

พยาธิใบไม้ตับ (Liver Flukes) เกิดจากพยาธิชนิด Opisthorchis Viverrini มีรูปร่างแบนคล้ายใบไม้ ซึ่งจะอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีของร่างกายมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อบริเวณท่อน้ำดี และอาจพัฒนาไปสู่มะเร็งท่อน้ำดีได้

 

 

พยาธิใบไม้ตับลักษณะเป็นอย่างไร 

 

 

รูปร่างแบนคล้ายใบไม้ ส่วนหัว และท้ายลำตัวมีลักษณะเรียวมน ขนาดลำตัวจะอยู่ที่ 7-12 มม. กว้าง 2-3 มม. (ขนาดลำตัวของพยาธิอาจแตกต่างกันออกไป) ซึ่งสามารถพบได้บริเวณภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือโดยส่วนมาก 

 

 

พยาธิใบไม้ตับ มีสาเหตุมาจาก 

 

 

การรับประทานปลาน้ำจืด เช่น ปลาตะเพียนขาว, ปลาขาวนา, ปลาสร้อย เป็นต้น และมีวิธีการปรุงอาหารแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ ทำให้ร่างกายได้รับตัวอ่อนที่เป็นระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ตับ เมื่อรับประทานอาหารที่มีพยาธิใบไม้ตับสะสมกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ท่อน้ำดีอักเสบ ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้

 

 

อาการของพยาธิใบไม้ตับ

 


ท้องอืด, แน่นท้อง, อาหารไม่ย่อย

 

 

 

 

 

 

  • ปัสสาวะสีเข้ม, อุจจาระสีซีด

 

 

  • ปวดท้องบริเวณด้านขวาบน

 

 

  • ถุงน้ำดีโป่งพอง  

 

 

  • ท่อน้ำดีอุดตัน

 

 

การวินิจฉัยพยาธิใบไม้ตับ

 

 

แพทย์จะสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่อาศัย, พฤติกรรมการรับประทานอาหาร, อาหารที่บริโภค, และอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะใช้วิธีการเก็บตัวอย่างอุจจาระ และนำกล้องจุลทรรศน์มาส่อง เพื่อหาไข่ของพยาธิ ถ้าหากไม่พบ อาจจะใช้วิธีการตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานที่มีต่อพยาธิใบไม้ แพทย์อาจพิจารณาส่งผู้ป่วยเพื่อตรวจเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวด์ เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนของโรค

 

 

พยาธิใบไม้ตับ รักษาอย่างไร 

 

 

  • การให้ยาพราซิควอนเทล ซึ่งผู้ป่วยจะใช้เป็นยาหลักในการรักษา

 

 

 

 

  • การใช้ยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรีย

 

 

  • หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินน้ำดี แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัด


 

  • หากมีอาการตัวเหลือง แพทย์จะต่อท่อในทางเดินน้ำดี เพื่อระบายน้ำออก

 

 

  •  หากมีอาการแน่นท้องจากการมีน้ำ อาจใช้วิธีการเจาะน้ำออกจากท้อง

 

 

การป้องกันพยาธิใบไม้ตับ 

 

 

  • หยุดรับประทานอาหารที่ไม่สด หรือปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ 

 

 

  • ขับถ่ายในส้วม และทิ้งสิ่งปฏิกูลให้ถูกวิธี

 

 

 

 

  • ล้างมือให้สะอาด หลังรับประทานอาหาร และถ่ายอุจจาระทุกครั้ง

 

 

  • หากเคยรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิ 1 ครั้ง/ปี

 

 

  • เมื่อพบว่าตนเองเป็นพยาธิใบไม้ตับ ควรรับประทานยารักษา เพื่อป้องกัน และประคับประคองอาการให้ดีขึ้นตามลำดับ

 

 

พยาธิใบไม้ตับ เป็นโรคที่มีความอันตรายอย่างมาก ทุกท่านที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือภูมิลำเนาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ควรป้องกันโดยการรับประทานอาหารที่สดใหม่ และปรุงสุกเท่านั้น หากท่านใดมีอาการคล้ายคลึงว่าเป็นพยาธิใบไม้ตับ ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อประเมิน วินิจฉัย และรักษาอาการตามลำดับขั้นตอน



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

พยาธิในเนื้อสัตว์ จากการรับประทานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

 

ซอยจุ๊ตับสด หากรับประทานดิบเสี่ยงรับพยาธิ