ไบโพลาร์ โรคอารมณ์ 2 ขั้วไม่น่ากลัวแค่ต้องเข้าใจ
ไบโพลาร์ โรคอารมณ์ 2 ขั้วไม่น่ากลัวแค่ต้องเข้าใจ

ในทางจิตวิทยา อารมณ์ คือ ประสบการณ์ในความรู้สึกสำนึกที่มีลักษณะเฉพาะและสัมพันธ์กับบุคลิกภาพ นิสัย และแรงจูงใจของบุคคล โดยอารมณ์ความรู้สึกเป็นอัตวิสัยที่มนุษย์มักจะแสดงออกมาผ่านพฤติกรรมและสัมพันธ์กับการรับรู้ ซึ่งจะแตกต่างไปในแต่ละสถานการณ์ หากบุคคลรู้และเข้าใจตนเองจะทำให้จัดการอารมณ์และควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ แต่ถ้าหากบุคคลไม่รู้จักการจัดการอารมณ์ของตัวเองจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตและทำให้เกิดโรคตามมา โดยโรคทางอารมณ์ที่ทำให้บุคคลควบคุมตัวเองไม่ได้ นั่นคือ “โรคไบโพลาร์”

 

ไบโพลาร์ คืออะไร

 

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง “โรคไบโพลาร์” และคิดว่าเป็นโรคของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่แท้ที่จริงแล้วโรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์อย่างสุดขั้ว ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติและจะมีช่วงที่ซึมเศร้าอย่างหนัก โดยอาการในแต่ละช่วงอาจจะอยู่นานนับสัปดาห์ หรือนานเป็นเดือน และมีช่วงที่เป็นปกติคั่นกลางทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน

 

อาการของไบโพลาร์

 

อย่างที่บอกไปแล้วว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้วสลับกันไปมาในระยะหนึ่ง ซึ่งสามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 ช่วงอารมณ์ ดังนี้

  • ช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการกระตือรือร้น หรือรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา มั่นใจในตัวเองสูงมาก มีพลังมากจนนอนน้อยลง คิดเร็ว พูดเร็วและพูดมากกว่าปกติ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่าย และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศได้  
  • ช่วงซึมเศร้า ผู้ป่วยจะรู้สึกหมดพลังในการใช้ชีวิต มองโลกในแง่ร้าย เบื่ออาหาร เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาด้านความทรงจำ มีปัญหาด้านการกิน และการนอนหลับ

 

ไบโพลาร์

 

ไบโพลาร์มาจากอะไร

 

สาเหตุของโรคนี้มักจะเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองได้แก่ ฮอร์โมนนอร์อะดรีนาลีน เซโรโทนิน และโดปามีนทำงานผิดปกติจนเกิดความไม่สมดุลกัน โรคนี้ยังมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ หากผู้ป่วยมีสมาชิกในครอบครัว หรือมีญาติที่มีความผิดปกติทางอารมณ์จะทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้สภาวะแวดล้อมทางสังคมยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด หรือเกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้โรคนี้แสดงอาการออกมาได้อีกด้วย

 

ภาวะแทรกซ้อนที่มากับโรคทางอารมณ์ไบโพลาร์

 

การเป็นโรคนี้ไม่ใช่แค่มีผลทางด้านอารมณ์เพียงอย่างเดียวนะ แต่ยังมีผลข้างเคียงและภาวะที่สามารถเกิดแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้มากมายไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับทางจิต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ความผิดปกติที่เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือโรคเกี่ยวกับสมาธิ เป็นต้น ไม่เพียงแต่เท่านั้นนะโรคนี้มีผลต่ออารมณ์และผู้คนรอบข้างดังนั้นผู้ป่วยจึงมักมีปัญหาทั้งทางด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มีปัญญาด้านการทำงานหรือการเรียน รวมไปถึงวิถีชีวิตในแต่ละวัน ในรายที่รุนแรงอาจมีความคิดถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายได้ด้วย

 

รักษาไบโพลาร์ได้อย่างไรบ้าง

 

โชคร้ายที่โรคนี้ยังไม่มีวิธีที่รักษาให้หายขาดได้เช่นเดียวกับโรคทางจิตหรือโรคทางอารมณ์หลาย ๆ โรค การรักษาของโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการและระดับความรุนแรงของโรค เพื่อควบคุมอาการให้มีผลกับผู้ป่วยน้อยที่สุด โดยมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ได้แก่

 

รักษาด้วยยา โดยมีเป้าหมายเพื่อคอยรักษาระดับสารสื่อประสาทภายในสมองให้อยู่ในระดับปกติ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัดจนกว่าหมอจะสั่งให้หยุดใช้ยา เพื่อป้องกันอาการกลับมาเป็นซ้ำหรือป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

การบำบัดรักษา นอกเหนือจากการใช้ยาผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาด้วยวิธีบำบัดซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี เช่น การรับคำปรึกษาจากแพทย์ การเข้าร่วมกลุ่มผู้บำบัด เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถหาข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับโรคที่ตนเป็นอยู่เพื่อให้มีความเข้าใจตนเองและสามารถรับมือกับอารมณ์ตนเองได้

 

ไม่อยากเป็นไบโพลาร์ต้องป้องกันอย่างไร

 

โรคนี้เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์จึงไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้ 100% แต่อย่างน้อยเรายังสามารถป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต หากเป็นโรคนี้ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำและกินยาตามที่แพทย์สั่งเป็นประจำห้ามหยุด เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นคำสั่งจากแพทย์และถ้าหากมีสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาในทันที

 

โรคไบโพลาร์เป็นโรคทางอารมณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนการดูแลสุขภาพจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าเป็นโรคนี้ไปแล้วเราควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้เราจะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติเหมือนกับคนอื่นเช่นกัน