ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง จากการใส่ส้นสูง
ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง จากการใส่ส้นสูง

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (Bunion) หรือ (Hallux Valgus) คือ ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าด้านในเอียงชิดเข้าหานิ้วชี้ กระดูกหัวแม่เท้าด้านในจึงปูดบวมขึ้น ต่อมาข้อนิ้วหัวแม่เท้าจะมีปุ่มลักษณะกลมนูนออกมา ทางด้านข้างหัวแม่เท้า ซึ่งปุ่มที่นูนออกมานี้จะทำให้มีอาการปวด ใส่รองเท้าลำบาก มักจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูง

 

 

สาเหตุภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

 

  • กรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น นิ้วเท้ายาว อุ้งเท้าแบน และกระดูกหัวแม่เท้าผิดปกติ เป็นต้น

      

  • การผิดปกติของกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น เช่นการอักเสบที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นผิดปกติ การอักเสบของข้อสำหรับผู้ป่วยข้ออักเสบเรื้อรัง

      

  • การสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับเท้า เช่น รองเท้าที่บีบรัดปลายเท้า รองเท้าปลายแหลม

 

 

อาการภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

       

  • โคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านนอกปูดจนเป็นปุ่ม มีอาการบวม แดง หรือร่วมกับอาการปวด

      

  • หนังที่โคนนิ้วหัวแม่เท้าหนาขึ้น

      

  • ปวดเท้าเป็นพักๆ ขยับนิ้วหัวแม่เท้าได้เล็กน้อย

       

  • เดินลำบาก

      

 

การรักษาภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

 

การรักษาภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการปวด โดยการรักษาเบื้องต้น

      

  • เปลี่ยนรองเท้า โดยเลือกใส่รองเท้าที่หน้าเท้ามีความกว้างกว่าปกติ

        

  • การใส่อุปกรณ์ประคองนิ้วเท้า

      

  • การใช้ยาแก้ปวด

      

  •  การประคบเย็นบริเวณที่ปวด

 

การผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดกระดูกหัวแม่เท้าด้านในที่ปูดบวม ใช้โลหะยึดกระดูก ปรับแต่งเนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อรอบๆ

 

 

นิ้วหัวแม่เท้าเอียง

 

 

การเลือกรองเท้าส้นสูง

 

เพื่อป้องกันภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง ด้วยวิธีการดังนี้

      

  • เลือกรองเท้าที่ส้นรองเท้าไม่สูงเกิน 1-2 นิ้ว

      

  • เลือกรองเท้าส้นสูง ที่หน้ากว้างเท่ากับหน้าเท้า

      

  • ใส่รองเท้าส้นสูงในเวลาจำเป็น

      

  • แช่เท้าในน้ำอุ่น ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

 

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายต่างก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง หากใส่รองเท้าที่บีบรัดปลายเท้า ดังนั้นควรเลือกใส่รองเท้าที่พอดีกับขนาดเท้า ไม่รัด และหลวมจนเกินไป