การสวนหัวใจ (CAG) คืออะไร
การสวนหัวใจ (CAG) คืออะไร

การสวนหัวใจ (Coronary Artery Angiography) หรือ CAG คือการเอกซเรย์หัวใจผ่านสายสวนทำให้เห็นลักษณะการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจโดยปกติแล้วจะทำผ่านข้อมือหรือขาหนีบ และสามารถทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนและใส่ขดลวดขยายเส้นเลือดหัวใจโดยไม่จำเป็นต้องดมยาสลบใช้เวลาในการพักฟื้นเพียง 1 หรือ 2 วันเท่านั้น

 

การสวนหัวใจคืออะไร

 

หลายท่านอาจเรียกว่า “การฉีดสี” หรือ “สวนหลอดเลือดหัวใจ” คือการทำหัตถการด้วยการสอดสายขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร ผ่านหลอดเลือดแดงก่อนจะฉีดสารทึบรังสีบริเวณหลอดเลือดหัวใจเพื่อบันทึกลักษณะความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจทั้งการอุดตันและการตีบตัน และทำการรักษาอาการผิดปกติของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพผ่านการทำบอลลูนหัวใจ โดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 30 ถึง 60 นาที

 

ใครที่ควรทำการสวนหัวใจ

 

  1. ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ปวดร้าวบริเวณแขนไหล่ เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  2. ผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ เช่น เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีอาการปวดร้าวจนถึงบริเวณแขน หรือมีผลวินิจฉัยว่าเสี่ยงภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ
  3. ผู้ที่ต้องการวัดความดันหัวใจในห้องต่าง ๆ
  4. ผู้ที่กำลังจะได้รับการผ่าตัดหัวใจ

 

 

สวนหัวใจรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

 

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease)  เกิดจากการเกาะตัวของไขมันจนทำให้หลอดเลือดหัวใจแคบลง มีผลต่อการลำเลียงออกซิเจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ โรคนี้สามารถใช้รักษาผ่านการสวนหัวใจ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งบริเวณขาหนีบ และข้อมือ

 

  • การสวนหัวใจบริเวณขาหนีบ หรือ Femoral artery ใช้เวลาในการตรวจ 30 ถึง 60 นาที ไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ และไม่ต้องเย็บแผลหลังทำหัตถการ แต่ต้องกดแผลไว้ประมาณ 15 นาที ผู้ที่เข้ารับการรักษาจะใช้เวลาพักด้วยการนอนราบประมาณ 6 ถึง 10 ชั่วโมง ก่อนจะเคลื่อนไหวเป็นปกติได้อีกครั้ง
     
  • การสวนหัวใจบริเวณบริเวณข้อมือ หรือ Radial artery สามารถเคลื่อนไหวได้ทันทีหลังทำหัตถการเสร็จแล้ว โดยจะใช้เวลาพักฟื้นเพียง 4 ถึง 8 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะผู้เข้ารับการรักษาจะสามารถใส่สายรัดห้ามเลือดบริเวณข้อมือทดแทนได้

 

สวนหัวใจ คือ

 

การสวนหัวใจเจ็บหรือไม่

 

ถึงแม้จะไม่ใช้ยาสลบแต่ก่อนจะเริ่มขั้นตอนแพทย์จะทำการฉีดยาชาให้ก่อน อีกทั้งสายสวนที่ใช้ในการสวนหัวใจยังมีขนาดที่พอดีกับการใช้งาน คนไข้อาจรู้สึกเจ็บบริเวณฉีดยาชาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและยังสามารถทำการพูดคุยกับแพทย์ระหว่างทำหัตถการได้ตามปกติ

 

การเตรียมตัวก่อนการสวนหัวใจ

 

  • บอกประวัติการแพ้ยาแพ้อาหารรวมถึงโรคประจำตัวกับแพทย์ สำหรับผู้หญิงให้บอกแพทย์หากมีประจำเดือน
  • ก่อนเข้ารับหัตถการสวนหัวใจต้องงดน้ำงดอาหารเป็นเวลา 4 ชั่วโมงขึ้นไป
  • วันตรวจรับประทานยาประจำตัวได้ตามปกติ แต่ห้ามทานยาเบาหวาน หรือยาขับปัสสาวะ และยาบางชนิดตามคำแนะนำของแพทย์

 

ขั้นตอนในการสวนหัวใจ

 

หลังจากงดน้ำงดอาหารประมาณ 4 ชั่วโมงแล้ว จะเริ่มทำความสะอาดบริเวณที่จะทำการหัตถการ ก่อนจะฉีดยาชาและเริ่มทำการสอดสายสวนหัวใจ เมื่อถึงหัวใจแล้วจะเริ่มฉีดสีเพื่อทำการเอกซเรย์ ตลอดการสวนหัวใจจะใช้เวลาประมาณ 30 ถึง 60 นาที เสร็จแล้วแพทย์จะนำสายสวนออกและปิดแผลห้ามเลือดเข้าสู่ขั้นตอนการดูแลพักฟื้นต่อไป

 

การปฏิบัติตัวหลังทำการสวนหัวใจ

 

  • หากทำบริเวณขาหนีบต้องนอนราบไม่ลุกนั่งประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมง
  • หากบริเวณที่ทำหัตถการสวนหัวใจมีความผิดปกติเช่น มีอาการเย็นและซีด หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะให้ปรึกษาแพทย์ทันที
  • หากไม่มีอาการผิดปกติสามารถทานอาหารได้ แต่หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ก่อน

 

หลังการสวนหัวใจต้องพักฟื้นกี่วัน

 

ควรนอนพักที่โรงพยาบาลโดยจะใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1 วันหรือมากที่สุดแค่ 2 วันเท่านั้น สามารถลุกเดินได้ในวันต่อไปในทันที หากไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ผู้เข้ารับการสวนหัวใจจะสามารถกลับบ้านได้ หลังจากออกจากโรงพยาบาลพยายามทานน้ำให้เยอะ ๆ เพราะจะสามารถช่วยขับสารทึบรังสีที่ฉีดเข้าไปได้ นอกจากนี้ในช่วง 7 วันแรกหลังการสวนหัวใจไม่ควรทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องใช้แรงเยอะรวมไปถึงการขับรถ

 

การสวนหัวใจเป็นวิธีที่ใช้วินิจฉัยหลอดเลือดหัวใจ และสามารถรักษาด้วยการทำบอลลูนต่อได้ทันทีถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง หรือผู้ที่ต้องการตรวจที่ดีที่สุดทางหนึ่ง