มีไข้สูง ปวดศีรษะ สัญญาณอันตรายของโรคไข้สมองอักเสบ
มีไข้สูง ปวดศีรษะ สัญญาณอันตรายของโรคไข้สมองอักเสบ

อาการเวียนศีรษะ เป็นไข้ คลื่นไส้ และอาเจียน หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นของโรคไข้หวัดธรรมดา แต่รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการของโรคไข้หวัดเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นอาการของโรค “ไข้สมองอักเสบ” ซึ่งหากเป็นแล้วจะไม่มียารักษา และเสี่ยงต่อการพิการ หรือเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติที่สมอง โดยโรคนี้สามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่คน และขึ้นชื่อว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองแล้วจะต้องมีการส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยด้วยแน่นอน

 

โรคไข้สมองอักเสบคืออะไร

 

โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) เป็นโรคที่เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อสมองทั่ว ๆ ไป บางครั้งอาจเกิดจากปัญหาทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส Japanese encephalitis (JE) จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ dengue virus ซึ่งทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

 

โรคไข้สมองอักเสบเกิดจากอะไร

 

เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบเป็นเชื้อกลุ่มเดียวกันกับเดงกีที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพาหะนำโรคนี้จะเป็นสัตว์ตัวใดไม่ได้เลยนอกจาก “ยุง” โดยปกติแล้วเชื้อไวรัสชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในสัตว์ เช่น หมู ม้า วัว แพะ เป็นต้น

 

การติดต่อของโรคไข้สมองอักเสบ

 

โรคไข้สมองอักเสบเป็นโรคที่ติดต่อกันได้จากสัตว์สู่คน โดยบริเวณที่มีการเพาะพันธุ์เชื้อมากที่สุด คือ คอกสัตว์เลี้ยง ได้แก่ หมู วัว แพะ ซึ่งพบว่าลูกสุกรเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญที่สุด โดยมียุงที่อยู่ตามบ้านเเละท้องนาเป็นพาหะนำเชื้อ โดยเชื้อที่อยู่ในเลือดจะแพร่พันธุ์อยู่ในตัวยุง หากยุงบินไปกัดผู้ใดเชื้อนี้จะแพร่เข้าสู่ผู้ที่ถูกกัดทันที ซึ่งบางคนอาจไม่มีอาการแสดงออกมาเลย ในขณะที่บางคนอาจเป็นไข้สมองอักเสบได้

 

อาการของโรคไข้สมองอักเสบ

 

ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากแสดงอาการจะสามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • ไข้สูงเฉียบพลัน
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
  • มีอาการเซื่องซึม ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมงหลังมีไข้
  • มีตุ่มน้ำพองใสขึ้นที่ผิวหนัง
  • อาจมีอาการชักในบางราย

โรคนี้เป็นอันตรายกับเด็ก และทารก โดยสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • ศีรษะทารกโป่งตึง
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ร่างกายแข็งเกร็ง
  • งอแง ร้องไห้ไม่หยุด
  • ไม่ยอมรับประทานอาหาร มีอาการซึม

 

ไข้สมองอักเสบ

 

การรักษาโรคไข้สมองอักเสบ

 

การรักษาโรคไข้สมองอักเสบจะรักษาตามอาการของผู้ป่วยเพื่อบรรเทาความรุนแรงเท่านั้น เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษานั่นเอง โดยวิธีรักษา และฟื้นฟูอาการให้ดีขึ้นมีดังนี้

  • ใช้ยาต้านไวรัส และยาปฏิชีวนะ โดยจะฉีดยาต้านไวรัสเข้าเส้นเลือดดำ 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดตามข้อ และกล้ามเนื้อได้ ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะจะใช้ในกรณีที่สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
     
  • ฉีดสเตียรอยด์ โดยจะทำในกรณีที่สาเหตุของโรคเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย
     
  • การฟอกเลือด เพื่อกำจัดสารพิษออกจากร่างกายที่อาจไปทำลายสมองได้

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้สมองอักเสบ

 

โรคนี้เป็นโรคที่ทำให้เนื้อสมองอักเสบ โดยเนื้อสมองจะอยู่ติดกันกับเยื่อหุ้มสมองจึงอาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองร่วมด้วย โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่

นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ และมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น ปัญหาด้านความจำ ปัญหาด้านบุคลิกภาพ ปัญหาด้านการกลืน ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และอาจมีอาการชักร่วมด้วย

 

การป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ

 

เมื่อยุงเป็นพาหะของโรคเราจึงควรทำลายจุดน้ำขัง พยายามไม่ให้ยุงกัด หลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่สะสมของแหล่งเชื้อโรค เช่น คอกสัตว์ เป็นต้น

นอกจากนี้การป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเพียง 1 เข็ม โดยร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 14  วัน และแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก ๆ 1- 2 ปี เพื่อผลของการป้องกันโรคในระยะยาว

 

จะเห็นได้ว่าโรคไข้สมองอักเสบเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวของเรา เพราะมียุงเป็นพาหะของโรคร้ายที่สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายของเราได้ทุกเมื่อ การป้องกันตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรทำเพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้นั่นเอง



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI