อาหารที่คนเป็นริดสีดวง “ควรกิน” และ “ไม่ควรกิน”
อาหารที่คนเป็นริดสีดวง “ควรกิน” และ “ไม่ควรกิน”

สาเหตุหลักของการเกิดโรคริดสีดวงคือการรับประทานอาหารไม่เหมาะสม ใครที่เคยเป็นคงรับรู้ได้ถึงความทุกข์ทรมานเมื่อน้องริซซี่ค่อย ๆ โผล่ออกมาพ้นปากประตูแล้วสัมผัสกับโลกภายนอกจนต้องประสบพบเจอกับอาการนั่งไม่ได้ เพราะเจ็บก้น การรับประทานอาหารในช่วงที่เราเป็นโรคนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะบางคนอาการอาจจะดีขึ้นแต่เมื่อระบบขับถ่ายกลับมาทำงานผิดปกติอีกครั้ง อาการริดสีดวงอาจจะกลับมาสร้างความทรมานให้คุณได้อีก ดังนั้นเรามาดูอาหารที่เหมาะสำหรับคนที่เป็นริดสีดวง และอาหารที่คนเป็นริดสีดวงไม่ควรรับประทานกันเถอะ

 

ทบทวนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคริดสีดวง

 

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องการรับประทานอาหารของคนเป็นโรคริดสีดวง เรามาทำความรู้จักโรคนี้เบื้องต้นสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเป็นกัน โรคริดสีดวงเป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนักเกิดอาการบวมพอง หรือยืดตัวจนมีอาการยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ริดสีดวงภายใน เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนักเกิดการโป่งพองแตกมีเลือดออก แต่ริดสีดวงประเภทนี้จะไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ ในขณะที่ริดสีดวงภายนอกจะมีอาการเจ็บปวดจากประสาทรับความรู้สึกบริเวณทวารหนักส่วนล่างที่มีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก ซึ่งริดสีดวงชนิดนี้จะสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าริดสีดวงภายใน

 

วิดีโอ โรคริดสีดวงทวาร (คลิก)
 

 

การรับประทานอาหารสำคัญอย่างไรกับคนเป็นริดสีดวง

 

ริดสีดวงเป็นโรคที่เกิดกับอวัยวะในการขับถ่ายจึงเกี่ยวข้องกับกระบวนการขับถ่าย ซึ่งการขับถ่ายนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการรับประทานอาหารเข้าไปในร่างกาย โดยใยอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั้นมีส่วนช่วยทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษา และป้องกันโรคริดสีดวง เพราะไม่ทำให้เกิดอาการท้องผูก ไม่ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระจนหน้าดำหน้าแดง และไม่ต้องนั่งแช่อยู่ในห้องน้ำเป็นเวลานานอีกด้วย

 

คนเป็นริดสีดวงกินอะไร

 

อาหารที่คนเป็นริดสีดวง “ควรกิน”

 

อาหารที่มีกากใยสูงมีส่วนช่วยให้ระบบขับถ่ายของเราลื่นไหล และไม่ติดขัดจนทำให้เกิดโรค ซึ่งเป็นผลดีต่อคนที่เป็นโรคริดสีดวง รวมถึงคนที่ยังไม่ได้เป็นโรคนี้ด้วย โดยอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่

  • ธัญพืชชนิดต่าง ๆ ที่ยังไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เล่ย์ โฮลวีท เป็นต้น โดยอาหารชนิดนี้จะอุดมไปด้วยรำข้าว และจมูกข้าวที่มีใยอาหารเป็นส่วนประกอบหลัก โดยเฉพาะในข้าวบาร์เล่ย์จะมีความพิเศษที่ใยอาหารสามารถละลายน้ำได้ด้วย
     
  • ถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ เป็นต้น เป็นอาหารที่มีใยอาหารมากถึง 1 ใน 3 ที่ร่างกายต้องการต่อวัน
     
  • ผักตระกูลกะหล่ำ มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหารเพราะมีใยอาหารมาก เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดขาว เป็นต้น

 

อาหารที่คนเป็นริดสีดวง “ไม่ควรกิน”

 

  • อาหารแปรรูป หรือของหมักของดองทุกชนิด เช่น ชีส เบค่อน ปลาร้า หอยดอง ปลาส้ม เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นริดสีดวงทั้งสิ้น
     
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะมีผลต่อลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องผูก อุจจาระไม่ออก ก่อให้เกิดริดสีดวงอักเสบ หรือบวมได้
     
  • อาหารรสจัด เช่น อาหารรสเผ็ด เพราะมีผลต่อการทำงานของลำไส้ และระบบขับถ่ายโดยตรง
     
  • เนื้อสัตว์ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เช่น เนื้อควาย เนื้อวัว เป็นต้น
     
  • ผักและผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน ละมุด สะตอ ชะอม กระถิน เป็นต้น เพราะผักที่มีฤทธิ์ร้อน หรือผลไม้ที่มีรสหวานมากจะส่งผลให้ริดสีดวงอักเสบ
     
  • อาหารทะเล ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลทุกชนิดระหว่างการรักษาริดสีดวง
     
  • ของทอด เพราะย่อยยาก และอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำส่งผลให้เกิดความดันในเลือดสูง และมีผลต่อริดสีดวงได้

 

เพียงแค่ผู้ป่วยโรคริดสีดวงรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงให้หายได้ นอกจากนี้ยังควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และหายจากโรคได้ไวขึ้นนั่นเอง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

 

แพคเกจที่เกี่ยวข้อง