ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Bleeding) หรือ GI Bleeding คือ ภาวะความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้ในระบบทางเดินอาหารส่วนบน (Upper GI tract) และส่วนล่าง (Lower GI tract) ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายภายในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร และผ่านออกนอกร่างกาย เช่น การอาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด สามารถเกิดได้อย่างเฉียบพลัน และอย่างเรื้อรัง

 

 

สาเหตุของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

 

เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper GI tract)

           

  • แผลในกระเพาะอาหาร มักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (H. Pylori)

           

  • หลอดอาหารอักเสบ มักจะเกิดจากกรดไหลย้อน

           

  • การฉีกขาดของเยื่อบุหลอดอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเป็นระยะเวลานานๆ

           

  • เส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับที่มีอาการรุนแรง

 

เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนปลาย (Lower GI tract)

           

  • เนื้องอก การเกิดเนื้องอกแบบธรรมดา หรือมะเร็ง อาจทำให้เยื่อบุในระบบทางเดินอาหารไม่แข็งแรง และเกิดเลือดออกได้

           

  • โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ เยื่อบุลำไส้ใหญ่เกิดการอักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อ ทำให้สามารถเลือดออกได้

          

  • การอักเสบของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคโครห์นที่เป็นการอักเสบของเยื่อบุในระบบทางเดินอาหาร หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังที่ เยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่เกิดการอักเสบ

           

  • ผลจากโรค หรือภาวะอื่นๆ เช่น เนื้อในลำไส้ใหญ่ เส้นเลือดลำไส้ใหญ่โป่งพอง เส้นเลือดทวารหนักโป่งพอง ผลรอยแยกขอบทวารหนัก ริดสีดวงทวาร รวมทั้งโรคมะเร็งที่เกิดในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร

 

 

อาการภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

 

อาการจากเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน

 

  • อาเจียนเป็นเลือด

 

  • อุจจาระเป็นสีดำ มีกลิ่นเหม็น

 

  • อาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว สามารถเป็นลม หมดสติ เข้าสู่ภาวะโคม่า และเกิดอาการช็อกได้

 

อาการจากเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง

 

  • อุจจาระเป็นเลือด

 

  • อาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดท้องบริเวณใต้สะดือ อุจจาระเหลว หากมีเลือดออกมาก หัวใจเต้นเร็วเร็ว สามารถเป็นลม หมดสติ เข้าสู่ภาวะโคม่า และเกิดอาการช็อกได้

 

 

การวินิจฉัยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

 

ขั้นแรกแพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วย เช่น ประวัติอาการความเจ็บป่วย และประวัติการใช้ยา หลังจากนั้นแพทย์จะทำการตรวจอย่างละเอียด ได้แก่

 

  • การตรวจเลือด ตรวจ เกล็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด และการทำงานของตับ

 

  • การตรวจอุจจาระ

 

  • การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อ (Biospy) ในระหว่างการส่องกล้อง แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อไปตรวจในห้องปฏิบัติการ

 

  • การตรวจลำไส้เล็กด้วยการกลืนกล้องแคปซูล (Capsule Endoscopy) แพทย์จะเห็นภาพถ่ายจุดที่มีเลือดออกบริเวณลำไส้เล็กได้

 

  • การฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่หลอดเลือดแดง เพื่อตรวจหาเส้นเลือดที่มีเลือดออกหรือความผิดปกติต่าง ๆ

 

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) บริเวณหน้าท้อง เพื่อหาจุดที่มีความผิดปกติ หรือจุดที่มีเลือดออก

 

  • การส่องกล้องตรวจอวัยวะทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper Endoscopy) เป็นการตรวจหาความผิดปกติบริเวณกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น โดยสอดเครื่องมือที่เป็นท่อขนาดเล็ก ติดกล้องส่วนปลาย เข้าไปทางปาก

 

  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจหาความผิดปกติบริเวณลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง โดยสอดเครื่องมือที่เป็นท่อขนาดเล็ก ติดกล้องส่วนปลาย เข้าไปทางทวารหนัก

 

  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy) ลักษณะคล้ายกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพียงแต่ว่าสามารถรักษาเลือดออกในบริเวณลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรงได้

 

 

การรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

 

การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

 

  • การให้สารน้ำ หรืออาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ

 

  • การใช้ยาคลายเครียด

 

  • ให้เลือดแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะซีด

 

การรักษาเพื่อการหยุดเลือด

           

  • รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม

           

  • งดใช้ยา ที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ยาที่ลดความแข็งตัวของเลือด

 

  • งดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่

 

  • การจี้ด้วยไฟฟ้า ผ่านการส่องกล้อง ในบริเวณที่มีการเลือดออก

 

  • ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจจะต้องงดน้ำ งดอาหาร ได้รับสารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ

           

  • หากมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหารรุนแรง ใส่สารอุดตันเข้าในหลอดเลือด เพื่ออุดจุดรั่วของหลอดเลือด

           

  • การผ่าตัดผูกหลอดเลือดที่เกิดเลือดออก หรือการตัดอวัยวะที่มีเลือดออก

 

 

เลือดออกในทางเดินอาหาร

 

 

การป้องกันภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

 

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการสูบบุหรี่

 

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

 

  • รักษาสุขอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

 

  • ไม่ควรซื้อยามารับประทานด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

 

 

อาการที่บ่งบอกว่าเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารขึ้นกับร่างกายนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีเลือดไหลออกจากบริเวณใดของทางเดินอาหาร และภาวะนี้สามารถพบได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่มักจะพบในเพศชาย และผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารได้

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

โปรแกรมส่องกล้องโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้