โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด
โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด

โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด (Hirschsprung's Disease) คือ โรคลำไส้ส่วนปลายขาดเซลล์ประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ส่งผลให้อุจจาระไม่สามารถผ่านปลายลำไส้ส่วนที่อยู่ข้างบนขึ้นไป ทำให้มีอุจจาระค้างเกิดการอุดตัน และการโป่งพองบริเวณลำไส้ขึ้น โดยที่แพทย์สามารถสังเกตความผิดปกติได้ทันทีหลังจากการคลอด

 

 

สาเหตุการเกิดโรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด

 

โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิดเกิดจากเซลล์ประสาทในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ลำไส้ใหญ่ไม่สามารถหดตัวได้และเกิดการตกค้างของอุจจาระอยู่ภายใน แต่ความคาดการณ์ของแพทย์อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์ของยีนในร่างกายของทารก โดยเฉพาะทารกเพศชายจะมีความเสี่ยงเป็นโรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิดได้มากกว่าทารกเพศหญิง

 

 

อาการของโรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด

 

  • ในทารกแรกคลอดอาจไม่ขับถ่ายเป็นครั้งแรกภายในเวลา 48 ชั่วโมงแรก มีอาการท้องเสีย อาเจียนเป็นสีเขียว หรือน้ำตาล ท้องอืด และบวม

 

  • พบความผิดรูปร่วม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ และภาวะผิดรูปของทวารหนัก

 

  • ในเด็กเล็ก หรือเด็กโต จะมีอาการท้องผูก ต้องใช้การสวนทวารเป็นประจำ บางรายมีการถ่ายเหลว รวมทั้งมีไข้ ถ้าหากตรวจร่างกายอาจจะพบก้อนในช่องท้อง

 

  • บางกรณีจะพบผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนของโรค เช่น ลำไส้อุดตัน และลำไส้อักเสบ

 

 

การวินิจฉัยโรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด

 

  • การสอบถามประวัติอาการท้องผูก และอาการที่ผิดปกติอื่นๆ ในระบบขับถ่าย

 

  • การเอกซเรย์ช่องท้อง แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีแบเรียม (barium enema) หรือสารอื่นๆ ผ่านท่อชนิดพิเศษไปยังบริเวณลำไส้ใหญ่ ให้เห็นภาพเค้าโครงของลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก เห็นภาพตำแหน่งที่ตีบแคบบริเวณลำไส้ และอาการบวมในลำไส้ใหญ่

 

  • การตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ และหูรูดทวารหนัก แพทย์จะใช้บอลลูนขนาดเล็กสอดเข้าไปในทวารหนักจนเกิดการพองขึ้น เพื่อทดสอบการคลายของกล้ามเนื้อโดยรอบ โดยที่ผู้ป่วยโรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด จะไม่สามารถคลายตัวออกได้

 

  • การตัดชิ้นเนื้อบริเวณลำไส้ใหญ่ แพทย์จะตัดเนื้อเยื่อตัวอย่างภายในลำไส้ใหญ่นำมาวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อระบุเซลล์ประสาทที่ที่ขาดหายไป ซึ่งผลการวินิจฉัยนี้ จะให้ผลที่เที่ยงตรง แม่นยำกว่าการวินิจฉัยอื่นๆ

 

 

 การรักษาโรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด

 

  • การผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์จะทำการผ่าตัดลำไส้ส่วนปลายที่ไม่มีเซลล์ประสาทออกทั้งหมด และนำลำไส้ส่วนปกติไปต่อกับบริเวณด้านบนทวารหนักเล็กน้อย

 

  • การผ่าตัดเปิดบริเวณหน้าท้อง แพทย์จะทำการผ่าตัดลำไส้ออกทางหน้าท้อง หลังจากนั้นจะเชื่อมต่อกับถุงทวารเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยขับถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง ซึ่งวิธีนี้จะใช้ในการรักษาชั่วคราวจนกว่าร่างกายของผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเชื่อมลำไส้ได้สำเร็จ
     

 

 

ลำไส้โป่งพอง

 

 

การดูแลผู้ป่วยหลังจากการผ่าตัดรักษาโรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิด

 

  • 24 ชั่วโมงภายหลังจากการผ่าตัดผ่านกล้อง ผู้ป่วยมักจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว ควรทำความสะอาดบริเวณรอบๆ รูทวารหนัก

 

  • ผู้ป่วยที่ได้การผ่าตัดลำไส้ออกทางหน้าท้อง จะมีการสอดใส่สายยางสีเหลือง ควรระมัดระวังสายยางสีเหลืองไม่ให้หลุด เพราะลำไส้อาจจะหลุดเข้าไปในช่องท้องได้

 

  • ในการดูแลแผลผ่าตัด หลังจากการขับถ่ายอุจจาระ โดยการใช้เบตาดีน 1 มิลลิลิตร ต่อ น้ำเกลือ 100 มิลลิลิตร ในการฉีดล้างทวารหนัก

 

  • ทาวาสลีนที่บริเวณทวารหนัก เพื่อป้องกันการระคายเคือง

 

  • หากทวารหนักเป็นแผล ผิวหนังถลอก ควรใช้ผลิตภัณฑ์ครีมป้องกันแผลกดทับ (Cavilon Cream)

 

 

โรคลำไส้โป่งพองแต่กำเนิดยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดโรค และการป้องกันโรคได้ แต่โรคนี้อาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการวางแผนการตั้งครรภ์ ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินความเสี่ยงของทารก เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และการรักษา



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

โปรแกรมส่องกล้องโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้