ฮิสทีเรีย โรคขาดความรักไม่ได้
ฮิสทีเรีย โรคขาดความรักไม่ได้

หลายคนอาจคิดว่าโรคฮิสทีเรีย (Hysteria) คือโรคขาดผู้ชายไม่ได้ หรือโรคของคนที่มีความต้องการทางเพศสูง แต่ความจริงแล้วโรคฮิสทีเรียไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความต้องการทางเพศ หรือการขาดผู้ชายไม่ได้แต่อย่างใด เพราะโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของบุคลิกภาพ โดยจะมีการแสดงออกทางอารมณ์ และท่าทางมากเกินกว่าปกติ เพื่อดึงดูดความสนใจ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักเพื่อเข้าใจโรคนี้อย่างถูกต้องกัน

 

โรคฮิสทีเรียคืออะไร

 

โรคฮิสทีเรีย (Hysteria) คือ โรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ หรือควบคุมความวิตกกังวลของตัวเองไม่ค่อยได้ รวมถึงความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมของตนเองก็ทำได้ไม่ดีเท่าคนปกติเช่นกัน

 

อาการที่เข้าข่ายโรคฮีสทีเรีย

 

โรคฮิสทีเรียจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ โรคประสาทฮิสทีเรีย (Conversation Reaction) ผู้ป่วยจะมีความขัดแย้งทางจิตใจอย่างรุนแรงจนส่งผลให้เกิดความผิดปกติในด้านการเคลื่อนไหว หรือการรับรู้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดไม่ได้ ไม่ได้ยินเสียง มองไม่เห็น เป็นต้น โดยอาการจะกำเริบเมื่อเกิดความขัดแย้งทางจิตใจอย่างรุนแรง แต่เมื่อผู้ป่วยตรวจร่างกายอาจจะไม่พบความผิดปกติใด ๆ เพราะเกิดจากจิตใจของผู้ป่วยเองไม่ได้มาจากโรคจริง ๆ นั่นเอง

ส่วนอีกลักษณะหนึ่ง คือ โรคบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย (Histrionic Personality Disorder: HPD) จะสามารถพบได้บ่อยกว่าโรคประสาทฮิสทีเรีย โดยมีอาการ ดังนี้

  • ต้องการเป็นจุดเด่น หรือจุดสนใจ เช่น พูดจา หรือแสดงท่าทางเกินจริง เป็นต้น ผู้ป่วยโรคนี้จะรู้สึกอึดอัด และทนไม่ได้ทันทีหากตัวเองไม่ได้รับความสนใจจากคนรอบข้าง
     
  • ไม่นึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น หรือไม่ค่อยแสดงความห่วงใย ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
     
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย รู้สึกเบื่อ หรือหงุดหงิดง่าย และมักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างทันทีทันใด เช่น ร้องไห้ทันทีเมื่อรู้สึกเสียใจ หรือผิดหวัง แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย หรือแสดงอาการโกรธอย่างรุนแรงกับเรื่องเล็กน้อย เป็นต้น
     
  • อาจทำร้ายตัวเอง หรือมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจที่ไม่สนว่าการกระทำนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นหรือไม่

 

ฮิสทีเรีย

 

สาเหตุของโรคฮีสทีเรีย

 

โรคบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียมักมีสาเหตุจากการขาดความรักอย่างมาก อาจเป็นปมฝังใจตั้งแต่วัยเด็ก หรือพบเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ผิดหวังมาก นอกจากนี้อาจเกิดจากพันธุกรรม และการได้รับการสั่งสอนที่ไม่ถูกต้อง ตอนเด็กอาจไม่ได้รับความรัก หรือไม่ได้รับความเอาใจใส่ที่มากพอ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการเพียงโหยหาแค่ความรัก และความสนใจ แต่ไม่ได้ต้องการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งแต่อย่างใด

 

การรักษาโรคฮีสทีเรีย

 

สามารถทำได้ด้วยการบำบัดทางจิต หรือไปพบจิตแพทย์ เพื่อพูดคุยหาสาเหตุของการเกิดโรค ปรับความคิด และพฤติกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แพทย์อาจใช้ยารักษาตามอาการควบคู่ไปกับการบำบัดทางจิตอีกด้วย

 

โรคฮิสทีเรีย เป็นโรคที่เกิดจากจิตใจของผู้ป่วย จึงต้องใช้เวลาในการรักษา ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนปกติ คนรอบข้างจึงควรเข้าใจ และให้เวลากับการดูแลผู้ป่วยโรคนี้อย่างจริงจังเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติในอนาคต