โรคกลัว (Phobia) อาการทางจิตที่คุณอาจไม่รู้ตัว
โรคกลัว (Phobia) อาการทางจิตที่คุณอาจไม่รู้ตัว

มนุษย์ทุกผู้ทุกคนย่อมมีความกลัว นักชีววิทยาเชื่อว่าความกลัวเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความอยู่รอด บางคนอาจจะกลัวแมลง บางคนอาจจะกลัวสัตว์มีพิษ หรือบางคนอาจจะกลัวคนแปลกหน้า ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ แต่ถ้าหากเราเกิดความกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป หรือกลัวในสิ่งที่คนอื่นไม่กลัวจนกลายเป็น “โรคกลัว” นั่นย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และอาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางพฤติกรรมที่อาจเป็นปัญหาได้ ดังนั้นเรามารู้จักโรคกลัวนี้ให้มากขึ้น และเรียนรู้วิธีการที่จะอยู่ร่วมกับความกลัวโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเรากัน

 

โรคกลัว (Phobia) คืออะไร

 

โรคกลัว เป็นโรคที่ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งจะเป็นไปอย่างไร้เหตุผล และจะกลัวเฉพาะสิ่งเร้าบางอย่างเท่านั้น เช่น โรคกลัวเจ้านาย (Bossophobia) โรคกลัวการลงโทษ (Poinephobia) โรคกลัวที่ทำงาน (Workplace Phobia) โรคกลัวความล้มเหลว (Atychiphobia) โรคกลัวการตัดสินใจ (Decidophobia) เป็นต้น โรคเหล่านี้ล้วนเป็นโรคที่ไม่น่ากลัวและคนทั่วไปไม่กลัวกัน ในกรณีรุนแรงไม่เพียงแค่จะมีอาการหวาดกลัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเอ่ยถึง หรือเห็นสิ่งที่มีความใกล้เคียงกันจะทำให้รู้สึกกลัวด้วย

 

โรคกลัวเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

โรคกลัวจัดเป็นโรคที่ผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้นของโรคอย่างชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากปมในอดีตที่ฝังใจ หรือติดค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกที่อาจเคยพบเจอเหตุการณ์ไม่ดีกับสิ่งนั้นมาก่อน เช่น อาจเคยถูกตำหนิบ่อย ๆ อาจเคยมีปัญหากับที่ทำงานอย่างรุนแรง เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากความไม่สมดุลกันของสารเคมีในสมอง และการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกด้วย อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเกิดโรคจะขึ้นอยู่รายบุคคลที่แตกต่างกันไป

 

อาการของโรคกลัว

 

ผู้ป่วยจะเกิดอาการผิดปกติขึ้นอย่างกะทันหัน เมื่อพบกับสิ่งที่กลัว ดังนี้

  • กล้ามเนื้อตึงตัว รู้สึกชาวูบขึ้นมาทั้งตัว
  • ปวดศีรษะ
  • ใจสั่น หายใจไม่ทัน หายใจไม่ทั่วท้อง
  • มือสั่น ปากสั่น เหงื่อออก
  • อาจมีอาการรู้สึกวิงเวียน และหมดสติได้

 

โรคกลัว

 

โรคกลัวมีกี่ประเภท

 

โรคกลัวแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  • โรคกลัวเฉพาะอย่าง (specific phobia) เป็นโรคกลัวที่พบได้บ่อย เช่น กลัวงู แมลงสาบ ผีเสื้อ กลัวเลือด กลัวความสูง กลัวความมืด เป็นต้น
  • โรคกลัวสถานการณ์ (agoraphobia) โรคกลัวประเภทนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวเมื่อต้องอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ตนคิดว่าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่สบายใจ จึงทำให้ผู้ป่วยพยายามเลี่ยง และปลีกตนเองออกมาจากกลุ่มคน
  • โรคกลัวกิจกรรมทางสังคม (social phobia) ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัว และมีอาการประหม่า เมื่อตัวเองกำลังตกเป็นเป้าสายตา หรือตกเป็นเป้าสนใจของผู้อื่น  เช่น การนำเสนอหน้าชั้นเรียน การพูดคุยกับคนแปลกหน้า เป็นต้น

 

วิธีรักษาโรคกลัว

 

สามารถรักษาด้วย 2 วิธี ได้แก่

  • พฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) เป็นวิธีปรับความคิดที่กระตุ้นอาการกลัว โดยให้ผู้ป่วยเข้าหา เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว หรือสถานการณ์ที่หวาดกลัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (graded exposure) เพื่อสร้างความเคยชิน แม้ในช่วงแรกผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องเผชิญต่อสิ่งที่กลัว แต่เมื่อใช้วิธีนี้ซ้ำ ๆ จะทำให้ผู้ป่วยเคยชิน และเกิดความกลัวลดน้อยลง
  • การรักษาด้วยยา (pharmacotherapy) แพทย์จะพิจารณากับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล โดยแพทย์จะใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่กลัวมากจนไม่สามารถทำพฤติกรรมบำบัดได้ ยาที่นำมาใช้ในการรักษา เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้าบางชนิด ยาแก้โรคจิตบางชนิด เป็นต้น เพราะการให้ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยกลัวน้อยลง แต่วิธีนี้ไม่ทำให้โรคหายขาดได้จึงต้องทำร่วมกับการบำบัด หากผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการทำพฤติกรรมบำบัดแพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลงจนหยุดยา

 

เมื่อเป็นโรคกลัวควรทำอย่างไร

 

  • เข้ารับการรักษา หรือกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งที่ตัวเองกลัว
  • บรรเทาความวิตกกังวลด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ
  • สร้างเสริมสุขภาพที่ดีด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และครบ 5 หมู่
  • ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นในสังคม ไม่แยกตัวเองออกจากสังคม

 

โรคกลัวจะสัมพันธ์กับสภาพจิตใจ คนที่มีอาการมานานและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นหากพบว่าตัวเอง หรือคนรอบข้างมีอาการกลัวที่ผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าที่อาจเป็นปัญหาใหญ่ในเวลาต่อมา