ทำความรู้จักวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก
ทำความรู้จักวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก

เด็กทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ เพราะเด็กเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ และเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนมากกว่าวัยผู้ใหญ่ จึงต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ โดยวัคซีนที่ต้องได้รับตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ คือ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ซึ่งเป็นโรคที่พบได้มากในเด็กเล็ก และหากไม่ได้รับวัคซีนอาจเกิดผลแทรกซ้อนที่อันตรายต่อชีวิตได้ 

 

วัคซีนโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยักคืออะไร

วัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักเป็นวัคซีนประเภทท็อกซอยด์ที่ทำมาจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย ส่วนวัคซีนป้องกันโรคไอกรนทำจากเชื้อที่ตายแล้ว หรือแอนติเจนจากผนังเซลล์ของเชื้อ

 

คอตีบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่อันตรายไม่แพ้โควิด-19

เป็นโรคการติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดจากแบคทีเรีย เป็นโรคที่เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปแล้วจะมักผลต่อเยื่อบุโพรงจมูก และลำคอ บางรายอาจมีผลต่อผิวหนังด้วย เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ จึงติดต่อกันได้ผ่านการไอ และจาม หรือการสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อ รวมทั้งสัมผัสของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย โดยโรคนี้จะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-7 วัน

 

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นคอตีบ

คือ ผู้ที่ป่วยโรคนี้จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอเล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย บางรายอาจจะมีอาการไอ กล่องเสียงอักเสบ และหายใจลำบาก นอกจากนี้ยังพบว่าโรคคอตีบสามารถเกิดขึ้นที่ผิวหนังได้ด้วย โดยผู้ป่วยจะมีตุ่มหนองขึ้นที่ผิวหนังบริเวณมือ ขา และเท้า

 

โรคคอตีบมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดอันตรายได้

เพราะเชื้อนี้จะส่งผลให้เกิดการอุดตันบริเวณทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปอดอักเสบ ทำลายระบบประสาททำให้เกิดอัมพาต และส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจนผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหัวใจวาย และเสียชีวิตได้

 

การป้องกันคอตีบ

คือ การได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่ช่วงทารก วัยเด็ก ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรือหากได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ควรรีบเข้าพบแพทย์ โดยแพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะให้เพื่อช่วยป้องกันการพัฒนาของโรค

 

ไอกรน โรคไอที่ไม่มีใครอยากเป็น

เป็นอาการในระบบทางเดินหายใจจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “บอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส” และจะติดเชื้อในมนุษย์ได้เท่านั้นโดยจะติดผ่านสารคัดหลั่งไปยังเซลล์ขนในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูกหรือปาก จากนั้นเชื้อนี้จะทำการแพร่สารพิษเพื่อทำลายเซลล์ขน ส่งผลให้มีอาการบวมในระบบทางเดินหายใจได้ เชื้อนี้จะแพร่สู่ผู้อื่นได้ผ่านการไอ จาม โรคนี้สามารถรับวัคซีนเพื่อป้องกันได้แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่ร่างกายอ่อนแออาจติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ป่วยจะแสดงอาการภายใน 5-10 วัน และมีอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดาในช่วงแรก หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไอและถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ และรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเสียงลมหายใจดัง อาเจียน หน้าแดงหรือเขียว และมีอาการเหนื่อยอย่างมากหลังไอ เป็นต้น

 

ไอกรนจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง

ในผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดวัคซีน เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ น้ำหนักลดลง เส้นเลือดแดงในตาขาวแตก เป็นต้น แต่โรคนี้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับการฉีดวัคซีน คือ ปอดบวม เกิดภาวะหยุดหายใจชั่วคราว ชัก และเกิดอาการกับสมองอย่างรุนแรงจนเสียชีวิตได้

 

วิธีการป้องกันไอกรนที่ดีที่สุด

คือ การได้รับการฉีดวัคซีน โดยจะได้รับการฉีด 3 เข็มแรกเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ เข็มต่อมาจะฉีดเมื่ออายุ 18 เดือน ตามด้วยฉีดกระตุ้นตอนอายุประมาณ 4-6 ปี ส่วนผู้ใหญ่ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนแล้วควรฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นทุก 10 ปีด้วย

 

วัคซีนคอตีบไอกรน
 

บาดทะยักโรคที่ไม่รับวัคซีนอาจถึงขั้นเสียชีวิต

เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ “คลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani)” จากดินหรือแหล่งสกปรกที่สะสมเชื้อโรค ร่างกายของเราจะติดเชื้อตัวนี้ได้ด้วยการสัมผัสเข้ากับเชื้อตัวนี้เมื่อร่างกายมีบาดแผล เช่น บาดแผลถลอก แผลถูกของมีคมบาด แผลจากการถูกสัตว์กัด การติดเชื้อตรงบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นต้น เชื้อนี้จะสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้อย่างรวดเร็วและสามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดได้ด้วย โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีระยะแสดงอาการอยู่ที่ประมาณ 3-21 วัน และในบางรายสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีการติดเชื้อที่รุนแรงได้ เราสามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคนี้ได้ เช่น ชักเกร็ง กล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็ง กล้ามเนื้อที่ลำคอหดเกร็ง รวมถึงอาจเกิดขึ้นกับอวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วยมีผลทำให้เกิดอาการเจ็บปวดตรงบริเวณนั้น ๆ นอกจากนี้อาจมีอาการมีไข้ หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก เป็นต้น

 

การรักษาโรคบาดทะยัก

ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการติดเชื้อโดยหากมีแค่ความเสี่ยงแต่ยังไม่มีอาการใด ๆ แพทย์จะฉีดยาเพื่อฆ่าเชื้อและป้องกันบาดทะยัก ส่วนในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไปแล้วจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อทำการรักษา โดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคนี้จะค่อย ๆ ฟื้นตัวได้โดยใช้เวลาตั้งแต่สัปดาห์ไปจนถึงหลักเดือน ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจเสียชีวิตระหว่างนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นแล้วการป้องกันบาดทะยักจึงเป็นสิ่งสำคัญและสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น การรับวัคซีนให้ตรงตามกำหนด รวมไปถึงการดูแลความสะอาดของบาดแผลตามร่างกายโดยทางที่ดีที่สุดอาจเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลบาดแผลและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

ทั้ง 3 โรคที่กล่าวมานั้นแต่ละโรคเราอาจจะเคยได้ยินแต่ไม่เคยได้รู้จักความน่ากลัวของมันเมื่อรู้แบบนี้แล้วหลายคนอาจจะอยากป้องกันโรคเหล่านี้ด้วยการดูแลตนเองและรับการฉีดวัคซีนตามกำหนดเพื่อการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์ปราศจากเชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ

_____________________________________

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง