ไขข้อสงสัยและแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก
ไขข้อสงสัยและแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก

องค์การอาหารและยาแนะนำวัคซีนโควิด-19 Pfizer-BioNTech สำหรับเด็กช่วงอายุ 12-18 ปี ซึ่งจะมีกำหนดการฉีดให้กับเด็กที่ตรงตามเกณฑ์ต่อไป กรณีที่เด็กยังไม่ได้รับวัคซีนสามารถรับวัคซีนอื่นเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่  วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ ประกอบกับดูแลสุขอนามัยของเด็กร่วมด้วย

 

เด็กฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม

 

เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไวรัสอุบัติใหม่ทำให้ยากต่อการรับมือ กระบวนการศึกษาพัฒนาวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อจึงต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับร่างกายอย่างละเอียด ในบางประเทศอนุมัติฉีดในเด็กได้ตั้งแต่อายุ 12-16 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบันที่ไม่หยุดนิ่งในอนาคตอันใกล้อาจมีการรับรองการฉีดวัคซีนให้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

 

สถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ของเด็กไทย

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้ออกมาให้คำแนะนำเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 เกี่ยวกับการแนะนำการฉีดวัคซีนในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ดังนี้

 

  • วัคซีน mRNA : องค์การอาหารและยา (อย.) แนะนำเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปี สามารถฉีดวัคซีนชนิด mRNA ที่ผ่านการรับรองและมีผลวิจัยรองรับคือ Pfizer-BioNTech
  • อายุ 16-18 ปี ไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่ : สามารถรับวัคซีนได้หากไม่มีข้อห้ามใด ๆ เนื่องจากเด็กในช่วงอายุดังกล่าวมีรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่พอสมควร
  • อายุ 12-16 ปี ควรเข้ารับวัคซีนหากเป็นกลุ่มเสี่ยง : ได้แก่ ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัม, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง

 

สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานครเผยข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2564 ว่าหลังจากให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เมื่อวันที่ 6-8 กันยายน 2564 แล้วจะมีกำหนดการฉีดเบื้องต้นให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปีในพื้นที่กรุงเทพ ฯ ที่ตรงตามเกณฑ์ ดังนี้

 

  • กลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปีที่เสี่ยงโรคอ้วน : กลุ่มอายุ 12 - 13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม, กลุ่มอายุ 13 - 15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม และกลุ่มอายุ 15 - 18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม
  • กลุ่มเด็กโรคกลุ่มเสี่ยง : โรคอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคเบาหวาน, กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า

 

โดยเด็กต้องผ่านการประเมินจากแพทย์และมีใบยืนยันผลการตรวจจากแพทย์เพื่อใช้ในการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก อย่างไรก็ตามกำหนดการฉีดหรือเกณฑ์ในการเข้ารับการฉีดอาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook : ไทยรู้สู้โควิด

 

วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก

 

เด็กมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากแค่ไหน

 

การติดเชื้อในเด็กพบเจอได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่ แต่แนวโน้มจะสามารถเพิ่มขึ้นได้หากเชื้อไวรัสเกิดการระบาดรุนแรงขึ้นในอนาคต หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ยากต่อการป้องกัน กรณีอาการรุนแรงมักพบในการติดเชื้อของเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12-18 ปีลงไปพบว่ามีโอกาสเกิดอาการรุนแรงน้อย

 

เด็กยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรทำอย่างไร

 

เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ในเด็กยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างละเอียด การป้องกันการติดเชื้อในเด็กจึงเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อสู่เด็ก ผู้ปกครองควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ให้ครบโดส และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของเด็ก ได้แก่

 

  • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงการติดเชื้อ : ไม่พาเด็กเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ชุมชนแออัด สวมหน้ากากอนามัย และให้ล้างมือบ่อย ๆ หลังสัมผัสกับวัตถุ
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง : ส่งเสริมสุขภาพให้เด็กอย่างเหมาะสมทั้งเวลาการพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่
  • ฉีดวัคซีนอื่นเสริมการป้องกันทางอ้อม : ควรให้เด็กเข้ารับวัคซีนตามกำหนดของช่วงอายุ ร่วมกับวัคซีนที่มีส่วนช่วยลดผลข้างเคียงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ

 

กรณีเด็กได้รับวัคซีนแล้วควรดูแลเด็กเพื่อสังเกตผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายประเภทใช้แรงเยอะประมาณ 1 สัปดาห์ขึ้นไปเพื่อเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจ