ฟันผุ
ฟันผุ อาจมีความเสี่ยงหากปล่อยทิ้งไว้

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก เป็นเรื่องที่เราต้องหันมาใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่น่ากลัวขึ้นได้ โดยเฉพาะฟันผุ (Dental Caries/Tooth Decay) เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มักเกิดขึ้นได้กับทุกคน, ทุกเพศ และทุกวัย หากปล่อยทิ้งไว้อาจคิดว่าไม่เป็นอะไร แต่ฟันผุเป็นอีกหนึ่งปัญหาของสุขภาพช่องปาก ที่มีความน่ากลัวมากกว่าที่คุณคิด 

 

 

ฟันผุเกิดจากสาเหตุใด? 

 

เกิดจากการที่เนื้อฟันถูกทำลายโดยเชื้อโรคที่อยู่ภายในช่องปาก ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดฟันผุขึ้น ได้แก่ การรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล, แผ่นคราบจุลินทรีย์, คราบหินปูน หรือการไม่แปรงฟันหลังจากรับประทานอาหาร เป็นต้น ซึ่งแบคทีเรียปกติที่อยู่ภายในช่องปากของเรา อาจทำปฏิกิริยากับคราบต่าง ๆ ที่ติดค้างอยู่ภายในซอกฟัน หากเราขจัดคราบเหล่านั้นออกไม่หมด จะทำให้คราบที่ทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียเกิดการเป็นกรดขึ้น และไปทำลายผิวที่เคลือบฟันอยู่ ถ้าหากปล่อยให้ภายในช่องปากมีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 เป็นระยะเวลานาน 

 

 

อาการของฟันผุเป็นอย่างไร?

 

เสียวฟัน

 

  • หากมีการดื่มหรือรับประทานอาหารรสหวาน, ร้อนหรือเย็นจัด จะทำให้เกิดอาการเสียวฟันมากยิ่งขึ้น

 

  • ปวดฟัน

 

  • พบรอยผุหรือรูที่บริเวณฟันซี่ที่มีปัญหา

 

  • รู้สึกขมปาก และลมหายใจมีกลิ่น 

 

  • พบเศษอาหารติดอยู่ภายในร่องฟัน 

 

 

ฟันผุมีกี่ระยะ?

 

ฟันผุสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ตามรอยผุที่เกิดขึ้น ดังนี้ 

 

ระยะที่ 1  

 

พบรอยผุภายในผิวเคลือบฟัน จะพบว่ามีรอยสีดำปรากฏขึ้นตามร่องฟัน แต่ระยะนี้จะยังไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น 

 

ระยะที่ 2 

 

พบรอยผุที่ลึกมากขึ้นภายในชั้นเคลือบฟัน สามารถสังเกตเห็นเป็นรอยผุขนาดเล็กบริเวณบนผิวฟัน โดยระยะนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเสียวฟันขึ้นได้ 

 

ระยะที่ 3 

 

รอยผุอาจลึกขึ้นมากกว่าเดิมจนถึงชั้นเนื้อฟัน ผู้ป่วยสามารถสังเกตเห็นรูผุขนาดใหญ่และมีความลึก โดยอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในระยะนี้ คือ ปวดฟันมากเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นหรือเสียวฟัน ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการขึ้น เช่น การรับประทานอาหารรสจัด, การรับประทานอาหารที่ร้อนหรือเย็นจัด เป็นต้น 


ระยะที่ 4

 

ฟันผุทะลุโพรงประสาท

 

หากปล่อยฟันผุทิ้งไว้จนมาถึงระยะนี้ ผู้ป่วยสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าฟันมีรอยผุขนาดใหญ่และลึกมาก คือ รอยผุที่ทะลุถึงโพรงประสาทฟัน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดฟันเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องมีสิ่งมากระตุ้น แต่ที่น่ากลัวสำหรับระยะนี้ ถ้าหากเชื้อโรคที่อยู่ในรอยผุเกิดการลุกลามไปถึงปลายรากฟัน อาจเกิดเป็นหนองและเชื้อโรคอาจแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกายได้ 

 

 

หากปล่อยฟันผุทิ้งไว้อาจเสี่ยงเกิดโรคเหล่านี้ขึ้นได้

 

 

  • โรคมะเร็งช่องปาก 

 

  • โรคเส้นเลือดในสมองตีบ 

 

  • โรคปอดอักเสบ 

 

  • โรคเบาหวาน 

 

 

การวินิจฉัยฟันผุ

 

การวินิจฉัยฟันผุ

 

หากผู้ป่วยเข้าพบทันตแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอาการฟันผุด้วยการสอบถามอาการเบื้องต้น ว่ามีอาการปวดหรือเสียวฟันไหม และจะใช้อุปกรณ์ตรวจสอบภายในช่องปากกับฟัน ถ้าหากผู้ป่วยมีฟันผุที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ แพทย์อาจจะเอกซเรย์ช่องปาก เพื่อดูความเสียหายของฟัน จากนั้นแพทย์จะแจ้งว่าฟันผุที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นอย่างไร และสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการใด ซึ่งโดยปกติแล้ว เด็กทุกคนควรเข้าพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ควรเข้าพบอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุก 2 ปี เพื่อทำการตรวจเช็คสุขภาพฟันเสมอ 

 

 

การรักษาฟันผุ

 

  • การใช้ฟลูออไรด์ หากเป็นฟันผุในระยะแรก ทันตแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ฟลูออไรด์ เช่น ยาสีฟัน, น้ำยาบ้วนปาก หรือสารเคลือบฟัน เป็นต้น 

 

  • การอุดฟัน เมื่อสังเกตเห็นฟันผุเป็นรูอย่างชัดเจน ทันตแพทย์จะใช้วัสดุที่มีความแข็งแรง หรือสีเหมือนฟัน อุดไปที่บริเวณรูของฟันซี่ที่ผุ 

 

  • การครอบฟัน ในกรณีที่ฟันของผู้ป่วยมีการผุกร่อนเป็นบริเวณกว้าง, สุขภาพฟันไม่แข็งแรง หรือเนื้อฟันเหลือน้อย โดยแพทย์จะใช้วัสดุที่แข็งแรงและสีเหมือนฟัน ครอบไปที่ฟันซี่ที่มีปัญหา 

 

  • การรักษารากฟัน วิธีนี้จะใช้รักษาเมื่อฟันผุทะลุไปถึงโพรงประสาทแล้ว แพทย์จะดำเนินการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น และรักษาบริเวณที่มีการติดเชื้อ 

 

  • การถอนฟัน เมื่อการอักเสบมีการลุกลามไปมาก และพิจารณาว่าไม่สามารถรักษาฟันซี่นั้นได้แล้ว แพทย์อาจใช้วิธีการถอนฟันเพื่อรักษาอาการของผู้ป่วย 

 

 

วิธีการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเอง

 

แปรงฟัน

 

  • การแปรงฟันสม่ำเสมอและแปรงอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง หรือหลังรับประทานอาหารด้วยแปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม โดยให้แปรงลิ้นทุกครั้งด้วยเสมอ 

 

  • การใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันหลังจากแปรงฟันทุกครั้ง 

 

  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย 

 

  • รับประทานอาหารให้เหมาะตามหลักโภชนาการ และควรจำกัดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตด้วย 

 

  • เข้ารับการตรวจเช็คสุขภาพช่องปากอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี

 

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าฟันผุนั้นมีความอันตรายเป็นอย่างมากหากท่านปล่อยทิ้งไว้ และอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นกับร่างกายได้อีกด้วย ดังนั้น ทุกท่านควรเข้าพบทันตแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตสุขภาพช่องปากของตนเองว่าผิดปกติหรือไม่ หากมีสิ่งใดที่ผิดปกติไปจากเดิม ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัย และดำเนินการรักษาต่อไป



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

แผนกทันตกรรม

 

กลิ่นปาก สัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพช่องปาก

 

โรคฟัน และโรคในช่องปากสำหรับผู้สูงอายุ