โรคนอนไม่หลับ จากภาวะความเครียด
โรคนอนไม่หลับ จากภาวะความเครียด

โรคนอนไม่หลับ (insomnia) เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยทั้งจากพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม ความเครียด หรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น อาการของโรคแม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการนอนใหม่ ในบางรายอาจต้องใช้การทานยาร่วมด้วยขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรค

 

สาเหตุและความเสี่ยงเป็นโรคนอนไม่หลับ

 

โรคนี้เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ และปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนี้
 

  • ปัจจัยด้านร่างกาย มีอาการป่วยที่มีส่วนทำให้เกิดโรค เช่น โรคขาอยู่ไม่สุข โรคกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคขากระตุกขณะหลับ นอกจากนี้ยังเกิดจากสภาวะของร่างกายตามอายุ เช่น การหมดประจำเดือน รวมไปถึงอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน เป็นต้น
     
  • ปัจจัยด้านจิตใจ สภาวะความเครียดทำให้เกิดความกังวล หมดกำลังใจ อาการเหล่านี้มีผลทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรืออาจเกิดจากโรคที่มีผลโดยตรงกับความรู้สึก เช่น โรคไบโพลาร์ หรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น

 

  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม จากห้องที่มีความสว่างหรือมีเสียงดังรบกวนเกินไป อาจเกิดจากพื้นที่นอนที่ไม่พอดี และความรู้สึกของการนอนต่างพื้นที่ทำให้ไม่คุ้นเคย

 

  • ปัจจัยด้านอื่น ๆ เช่น ผลข้างเคียงจากใช้ยาบางชนิด การออกกำลังกายมากเกินไป การดื่มหรือทานอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

 

อาการของโรคนอนไม่หลับ

 

  • อาการทางด้านร่างกาย นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท มีอาการอ่อนเพลีย และง่วงนอนในเวลากลางวัน
     
  • อาการทางด้านอารมณ์ ไม่ค่อยมีสมาธิ อารมณ์หงุดหงิดง่าย และมีความกังวลเกี่ยวกับการนอนหลับ

 

โรคนอนไม่หลับ

 

ลักษณะอาการของโรคนอนไม่หลับ

 

  • Initial insomnia หลับยากเมื่อต้องการนอน (ปกติจะใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีในการหลับ)
     
  • Terminal insomnia ตื่นเร็วเกินกว่าปกติ อาการรูปแบบนี้มักพบเจอในผู้ป่วยที่มีอาการเป็นโรคซึมเศร้า
     
  • Maintinance insomnia หลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดคืน อาจตื่นทุก 2-3 ชั่วโมง หรือหลับแล้วตื่นขึ้นเองกลางดึก และหลับต่อได้ยาก รวมไปถึงการตื่นมาทำกิจกรรมอื่นด้วย เช่น การเข้าห้องน้ำแล้วนอนไม่หลับ
     
  • Chronic insomnia ผู้ป่วยจะมีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง 3 ครั้ง/สัปดาห์ และเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน
     
  • Adjustment insomnia เป็นอาการนอนไม่หลับเฉียบพลันจากความเครียด ความกังวล หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้จะกลับมานอนหลับได้ปกติอีกครั้ง

 

หากพบว่าตนเองมีอาการนอนไม่หลับในกลุ่ม Chronic insomnia ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และการรักษาเพราะอาการของโรคนี้สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

 

รักษาโรคนอนไม่หลับได้อย่างไรบ้าง

 

การรักษาโรคนี้จะต้องผ่านการวินิจฉัยสาเหตุของโรคจากแพทย์เสียก่อน หากเกิดจากพฤติกรรมการนอนที่ผิดแพทย์จะให้คำแนะนำ หรือการรักษาด้วยยาหากมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ

 

  • การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม ต้องนอนให้ตรงเวลาในห้องอุณหภูมิที่พอดี ห้ามเปิดไฟนอน ไม่ดื่มชากาแฟหรือแอลกอฮอล์ก่อนนอน และห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความตื่นเต้น เช่น การดูภาพยนตร์ หรือการฟังเพลง แต่ให้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายแทน เช่น การฟังเพลง อ่านหนังสือ เป็นต้น
     
  • การรักษาด้วยยา หากตรวจพบว่าสาเหตุของโรคนอนไม่หลับมาจากอาการ หรือได้รับผลมาจากโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคไบโพลาร์แพทย์จะให้ทานยาร่วมด้วย

 

นอกจากนี้หากมีอาการนอนไม่หลับไม่ควรหยิบนาฬิกาขึ้นมาดูเนื่องจากจะเป็นการสร้างความกังวลว่าตนเองหลับยาก และรู้สึกเสียเวลาในการนอนพักผ่อน สำหรับผู้ที่รักษาอยู่ให้ทำตามคำแนะนำของแพทย์ และปรับพฤติกรรมการนอนให้ถูกต้องก็จะสามารถหายจากโรคนี้ได้