เช็กความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
เช็กความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) เป็นภาวะอันตรายสังเกตได้จากการนอนกรนเกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนต้นที่แคบลง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเสี่ยงโรคทางหัวใจ และโรคอื่น ๆ ซึ่งอันตรายถึงชีวิต สามารถวินิจฉัยได้ผ่านการทำ Sleep Test เพื่อวัดความรุนแรงของอาการเป็นข้อมูลสำหรับทำการรักษาต่อไป

 

สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

เกิดจากอวัยวะในระบบหายใจเกิดความผิดปกติ เช่น จมูก ช่องคอ ผนังคอหอย เป็นต้น ทำให้บริเวณดังกล่าวแคบลง เมื่อหายใจจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนกลายเป็นเสียงกรนตอนนอนหลับซึ่งเป็นสัญญาณหลักของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากระบบหายใจที่แคบจะทำให้ร่างกายพยายามหายใจให้แรงขึ้น การกระทำดังกล่าวจะยิ่งทำให้ทางเดินหายใจแคบลงทำให้ไม่สามารถหายใจเข้า-ออกได้ชั่วขณะหนึ่ง อาการนี้เองที่เรียกว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”

 

ใครบ้างที่เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยแต่ส่วนมากจะพบในเพศชายอายุประมาณ 30 ปี และจะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นตามอายุ โดยจะมีความเสี่ยงร่วมกันในทุกเพศทุกวัย ดังนี้

 

  • ลักษณะโครงสร้างของใบหน้า ผู้ที่มีช่องคอช่องจมูกแคบ มีคางสั้น กะโหลกศีรษะผิดรูป เป็นต้น ส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผลกระทบจากโรค โรคอ้วน โรคด้านหัวใจ โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวาน
  • เกิดจากการทานยา ยาบางชนิดสามารถส่งผลให้เกิดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อในระบบหายใจได้
  • พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การดื่มแอลกอฮอล์รวมไปถึงการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เช่นกัน

สำหรับเพศหญิงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นในวัยหมดประจำเดือน และในเด็กมักพบจากสาเหตุของอาการต่อมทอนซิล และอดีนอยด์โต หรืออักเสบเรื้อรัง

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีกี่ประเภท

 

  • ประเภทการอุดกั้นทางเดินหายใจ (Obstructive Sleep Apnea) : เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่พบได้บ่อยที่สุด จากระบบทางเดินหายใจที่แคบลง
  • ประเภทความผิดปกติจากสมองส่วนกลาง  (Central sleep apnea) : เกิดจากสมองส่วนกลางไม่สามารถสั่งการกล้ามเนื้อขณะนอนหลับได้ เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือยาที่มีผลต่อระบบสมองส่วนกลาง อาการประเภทนี้พบได้น้อยที่สุดในภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ประเภทแบบผสม (Mixed Sleep Apnea) : เป็นการหยุดหายใจที่เกิดขึ้นจากสาเหตุของสมองส่วนกลาง และการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจร่วมกัน

 

อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

  • อาการตอนกลางวัน ปวดศีรษะไม่สดชื่นตอนตื่นนอนรู้สึกนอนไม่พอ ส่งผลให้การทำงานระหว่างวันรู้สึกล้าไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย คอแห้ง และง่วงนอนอย่างมากส่งผลให้คุณภาพของการทำงานแย่ลง แต่หากเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กจะซนมากขึ้นเนื่องจากสมาธิสั้น
  • อาการตอนกลางคืน ตอนนอนจะละเมอ ฝันร้าย กรนดังมาก หายใจแรง หายใจขัดเพื่อหาอากาศ มีอาการสะดุ้งตื่น ถ้าเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กมักจะเปลี่ยนท่านอนบ่อยเป็นท่านอนคว่ำ และปัสสาวะรดที่นอนร่วมด้วย นอกจากนี้เด็กอาจเติบโตได้ไม่สมวัย

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังพบอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น สมรรถภาพทางเพศลดลง หรือเกิดโรคต่าง ๆ ทั้งความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

ระดับความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

จะอ่านผ่านค่าดัชนี Apnea Hypopnea Index หรือ AHI ผ่านการคำนวณค่าความถี่ของการหยุดหายใจขณะหลับ (Apnea) และการหายใจแผ่วเพราะอากาศผ่านทางเดินหายใจได้น้อยลง (Hypopnea) เพื่อบอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับในตอนหลับจริง

  • ค่า AHI น้อยกว่า 5 / ชั่วโมง ถือว่าปกติ
  • ค่า AHI 5-15 / ชั่วโมง มีความรุนแรงเล็กน้อย
  • ค่า AHI 15-30 / ชั่วโมง มีความรุนแรงระดับปานกลาง
  • ค่า AHI ตั้งแต่ 30 / ชั่วโมงขึ้นไป ถือว่ามีความรุนแรงมาก

 

อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

สามารถทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิตตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษา เช่น โรคด้านหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ความอ่อนเพลียในตอนกลางวันผลกระทบจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจส่งผลให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ระหว่างขับรถ

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบบไหนควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

 

  • นอนกรนดังมากจนทำให้ผู้อื่นได้ยิน หรือรบกวนการนอนของผู้อื่นได้
  • ตื่นด้วยอาการหอบหรือสำลักกลางดึกจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • คนรอบข้างบอกว่าผู้ป่วยมีอาการหยุดหายใจเป็นระยะ ๆ
  • มีอาการง่วงนอนอย่างหนักตอนกลางวัน และไม่สามารถควบคุมให้ตนเองตื่นได้

 

การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

เริ่มจากการซักถามประวัติและอาการนอนกรนควรมีผู้ที่สังเกตอาการของผู้ป่วยอยู่ในขั้นตอนการซักประวัติด้วย ซึ่งการตรวจวินิจฉัยจะมีขั้นตอนต่อไปนี้

 

  • ตรวจโดยทั่วไป และทำการตรวจหูคอจมูกอาจตรวจผ่านการส่องกล้อง จุดประสงค์เพื่อหาจุดผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการอุดกั้น สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ตรวจกะโหลกศีรษะ และลำคอผ่าน การเอกซเรย์เพื่อประเมินโครงสร้างของใบหน้า และเพื่อดูความผิดปกติของต่อมอดีนอยด์ในเด็ก
  • ทำการตรวจการนอนหลับ Sleep Test (Polysomnography) ในช่วงกลางคืนเพื่อดูอาการนอนกรน และวิเคราะห์อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับโดยจะทดสอบตลอดการนอนหลับ 6-8 ชั่วโมง เพื่อหาแนวทางในการรักษาผ่านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

ภาวะนี้มีขั้นตอนและวิธีการรักษาหลายรูปแบบทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับระดับอาการ และความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับแต่ละรายด้วย ดังนี้

 

  • การปรับพฤติกรรม ทำได้ด้วยการดูแลให้น้ำหนักอยู่ในระดับมาตรฐาน พยายามอย่านอนหงายนอนให้ระดับศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว นอนพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามเลี่ยงยาที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน เพราะจะมีผลต่อสมองส่วนกลาง งดการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
     
  • รักษาจากโรคต้นเหตุ หากพบว่ามีโรคร้ายที่เป็นเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อหรือระบบประสาท เป็นต้น
     
  • รักษาด้วยเครื่องมือ ผ่านเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure) หรือ CPAP เพื่อค้ำการหย่อนของกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือใส่เครื่อง Oral Appliance ในช่องปากเพื่อปรับขากรรไกรช่วยให้ทางเดินหายใจมีพื้นที่มากขึ้น
     
  • รักษาผ่านการผ่าตัด การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะทำได้ก็ต่อเมื่อผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว โดยจุดประสงค์ของการผ่าตัดคือทำให้ระบบทางเดินหายใจมีพื้นที่กว้างขึ้น หรือลดการหย่อนลง เช่น การผ่าตัดจมูก การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน หรือการผ่าบริเวณคอหอย เป็นต้น

 

การเลือกหมอนสำหรับผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

การเลือกหมอนเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ด้วยการเลือกหมอนที่สามารถประคองศีรษะและคอได้ สามารถปรับระดับความหนาแน่นเฉพาะจุดได้ หรือใช้หมอนเฉพาะทาง เช่น หมอน Continuous positive airway pressure (CPAP) จะมีหน้ากากเพื่อช่วยเสริมสร้างการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้

 

3 วิธีง่าย ๆ ช่วยป้องกันภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยตนเอง

 

  • ดูแลน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน ทั้งการทานของที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเล่นโยคะสามารถช่วยพัฒนาระบบหายใจได้
  • เปลี่ยนท่านอนให้ถูกต้อง ท่านอนที่ช่วยเลี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ให้พยายามนอนตะแคงเพราะสามารถช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • งดแอลกอฮอล์และบุหรี่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดความผิดปกติ หรือบวมขึ้นจนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้

 

การทำ Sleep Test เป็นการวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพสำหรับการประเมินภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หากรีบทำการรักษาความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ จะน้อยลงตามไปด้วย