สิทธิประกันสังคมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
สิทธิประกันสังคมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

การมีบุตร เป็นภาวะที่ผู้หญิงหลายคนอยากสัมผัส โดยเฉพาะผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว แต่การมีบุตร หรือการตั้งครรภ์นั้นมักจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่จึงต้องหาวิธีแบ่งเบาภาระจากการฝากครรภ์ และการคลอดบุตร โดยการใช้สิทธิต่าง ๆ ที่มีอยู่ ดังนั้นเราจึงมาดูกันว่าหากใช้สิทธิประกันสังคมคุณแม่จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายใดได้บ้าง

 

สิทธิเบิกจ่ายค่าตรวจครรภ์ และฝากครรภ์

 

สำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มค่าตรวจและค่ารับฝากครรภ์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ให้กับผู้ประกันตนสำหรับคนท้องอีก 1,000 บาท โดยจ่ายตามอายุครรภ์ ดังนี้
 

  • ฝากครรภ์โดยมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายให้ในอัตราที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
  • ฝากครรภ์โดยมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายให้ในอัตราที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท
  • ฝากครรภ์โดยมีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท


ผู้ประกันตนจะต้องสำรองจ่ายเงินก่อน แล้วสามารถนำใบเสร็จกับใบรับรองแพทย์มาเบิกจ่ายทีหลังได้ที่ประกันสังคมทั่วประเทศ และสามารถยื่นขอรับค่าตรวจ ค่ารับฝากครรภ์ได้โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตรก่อน หรือสามารถขอรับพร้อมกับการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรได้ด้วย

 

สิทธิเบิกจ่ายค่าคลอดบุตร

 

สำนักงานประกันสังคมได้ให้ผู้ประกันตนสำหรับคนท้องสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อครั้ง เช่น ค่าทำคลอด ค่าห้องพัก ค่ายา หรือค่าบริการอื่น ๆ โดยสามารถใช้บริการที่ผู้ประกันตนได้ลงทะเบียนไว้ หากใช้บริการโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วสามารถนำเอกสารเบิกค่าใช้จ่ายทีหลังได้ที่ประกันสังคมทั่วประเทศ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
 

  • ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร
  • กรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

สิทธิการลาคลอด

 

นอกจากผู้ประกันตนจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับการฝากครรภ์ และการคลอดบุตรแล้ว สำนักงานประกันสังคมยังจ่ายค่าจ้างชดเชยในกรณีหยุดงานเพื่อลาคลอดอีกด้วย โดยทางประกันสังคมจะจ่ายค่าชดเชยในอัตรา 50 % ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้
 

  • สิทธิการลาคลอดนี้สามารถใช้ได้เฉพาะฝ่ายหญิงเท่านั้น
  • จ่ายค่าชดเชยให้ไม่เกินฐานเงินเดือน 15,000 บาท หากเงินเดือนของผู้ประกันตนมากกว่ากำหนด จะคิดในอัตราเงินเดือน 15,000 บาท
  • การใช้สิทธิประกันสังคมนี้จะสามารถใช้ได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และคนที่ 2 เท่านั้น
  • ระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยจะให้ทั้งหมด 90 วัน หรือ 3 เดือน นับรวมวันหยุดราชการ


หากผู้ประกันตนลาไม่ครบ 90 วันทางประกันสังคมจะยังจ่ายเงินค่าชดเชยให้เช่นเดิม

 

ชดเชยกรณีแท้งบุตร

 

หากเกิดกรณีแท้งบุตร ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรประกันสังคมได้ตามปกติ เพราะทางประกันสังคมถือว่าท่านได้คลอดบุตรแล้วไม่ว่าเด็กจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม โดยมีเงื่อนไขดังนี้
 

  • ต้องจ่ายเงินค่าประกันสังคมแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนแท้งบุตร
  • จะต้องมีอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ หรือ 7 เดือนขึ้นไป

 

สิทธิ์รับเงินสงเคราะห์บุตร

 

ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับสงเคราะห์บุตร โดยจะได้รับเงินเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทจนถึงบุตรอายุ 6 ปีบริบูรณ์ โดยประกันสังคมจะไม่จ่ายค่าสงเคราะห์บุตรหากบุตรเสียชีวิต หรือยกให้ผู้อื่นเป็นบุตรบุญธรรม และมีเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้
 

  • ต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 หรือมาตรา 39 เท่านั้น
  • จ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
  • จ่ายเงินสูงสุดไม่เกินบุตร 3 คน


จะเห็นได้ว่าคุณแม่มือใหม่ที่เป็นผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ มากมายจากประกันสังคมเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และยังเป็นหลักประกันที่จะทำให้คุณแม่และลูกน้อยปลอดภัยได้อีกด้วย

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

 

เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม : https://th.city/g4Vz2, https://th.city/uOATS

เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม จังหวัดอุทัยธานี : https://th.city/VKll


บทความล่าสุด