โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) มัจจุราชไร้เงาที่เราต้องระวัง
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) มัจจุราชไร้เงาที่เราต้องระวัง

เมื่อกล่าวถึงโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis) หลายคนอาจจะคิดว่าโรคนี้ต้องเป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบประสาทที่ส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทนำคำสั่งที่อยู่ในสมองและไขสันหลัง โดยโรคนี้มักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จนเราไม่อาจรู้ตัว และอาการจะรุนแรงขึ้นจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวมักจะเกิดอาการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเสียแล้ว ดังนั้นเรามาทำความรู้จักโรคนี้ก่อนที่จะลุกลามกันค่ะ

 

สาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

โรคนี้เกิดจากเซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ หรือถูกทำลายทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง ซึ่งเซลล์ประสาทในส่วนนี้จะทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว โดยสมมติฐานเชื่อว่าโรคนี้เกิดจากหลายเหตุปัจจัยก่อให้เกิดโรคร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม โดยมีประวัติสัมผัสกับโลหะ หรือสารเคมีบางชนิดที่อาจทำให้ประสาทนำคำสั่งเกิดการทำงานผิดปกติ

 

อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

โรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยอาจเริ่มจากที่มือ เท้า หรือแขน จากนั้นจะค่อย ๆ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • กล้ามเนื้อแขน ทำให้แขนไม่มีแรง กำมือไม่ได้ข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นแขนจะเริ่มลีบลง แล้วจะลามไปยังแขนอีกข้างหนึ่ง
  • รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง อาจเกิดอาการกระตุก รวมทั้งบริเวณแขน ไหล่ และลิ้นอาจมีอาการแข็งเกร็ง ทำให้ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ บางรายอาจมีอาการหนักจนไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้
  • ไม่สามารถควบคุมกระบังลมได้จึงทำให้หายใจไม่สะดวก                     

 

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำอย่างไร

 

การวินิจฉัยโรคนี้อาจต้องมีการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และตรวจโดยใช้อุปกรณ์ช่วยเสริม ดังนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เพื่อวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อโดยตรง
  • การตรวจชักนำประสาท เพื่อกระตุ้นเส้นประสาท วัดการทำงานของเส้นประสาท
  • การตรวจ MRI SCAN เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในโพรงกระดูก หรือไขกระดูก
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลางและสมอง

 

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงรักษาหายหรือไม่

 

ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้เพียงแต่รักษาไปตามอาการ และใช้ยาเพื่อชะลอการดำเนินของโรคเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายหลังจากแสดงอาการประมาณ 2-3 ปี แต่บางรายหากครอบครัว และคนใกล้ชิดให้ความใส่ใจ และดูแลผู้ป่วยทั้งทางกาย และทางใจอาจทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานเป็น 10 ปี ดังนั้นการให้กำลังใจ และคอยอยู่เคียงข้างผู้ป่วย แม้เราจะรู้อยู่แล้วว่าปลายทางอาจจะดูมืดมน เพราะไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ แต่การให้กำลังใจก็เปรียบเสมือนแสงสว่างที่คอยจุดประกายให้คน ๆ นั้นเดินทางต่อไปได้ เราเชื่อว่าหากจิตใจของผู้ป่วยได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจะทำให้สภาพร่างกายของผู้ป่วยดีขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

 

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

การป้องกันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

โรคนี้ไม่พบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัดจึงยังไม่มีวิธีป้องกันได้ 100 % แต่เราสามารถให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ดังนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
  • พยายามหลีกเลี่ยงสัมผัสกับสารเคมี หรือรังสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง เป็นต้น

 

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นโรคที่พบผู้ป่วยในจำนวนน้อย ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และไม่มีการรักษาให้หายขาด จึงเป็นโรคที่ค่อนข้างน่ากลัว การดูแลสุขภาพตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาที่ไม่รู้ว่าจะหายหรือไม่