ฝีคัณฑสูตร โรคติดเชื้อภายในทวารหนัก
ฝีคัณฑสูตร โรคติดเชื้อภายในทวารหนัก

“ฝี” เป็นปัญหากวนใจที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะหากเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความเจ็บป่วยทรมานเป็นอย่างมาก และจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นไปอีกเมื่อเจ้าฝีนี้ดันไปเกิดขึ้นในที่ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า นั่นก็คือ “ฝีคัณฑสูตร” 

 

 

ฝีคัณฑสูตรเกิดจากอะไร

 

เป็นฝีที่เกิดขึ้นจากการอุดตันของต่อมผลิตเมือกและเกิดการติดเชื้อจนเป็นหนองภายในทวารหนัก โดยบริเวณนี้จะมีต่อมผลิตเมือกจำนวนมากซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากเป็นทางผ่านของอุจจาระ ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียสะสมจนเกิดเป็นฝี และเมื่อฝีแตกออกจนมีหนองไหลออกมาที่ผนังรอบปากทวารก็จะกลายเป็นฝีคัณฑสูตรในที่สุด

 

สาเหตุของฝีคัณฑสูตร

 

ไม่สามารถหาสาเหตุได้แน่ชัดเพราะมักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันคล้ายไส้ติ่งอักเสบ แต่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมของเชื้อโรค  และแบคทีเรียภายในต่อมผลิตเมือกของทวารหนักด้านใน  เมื่อเชื้อแบคทีเรียนี้ถูกสะสมในระยะเวลานานจะทำให้เกิดการติดเชื้อจนกลายเป็นฝีขึ้นภายในทวารหนัก

 

อาการของฝีคัณฑสูตร

 

แม้โรคฝีคัณฑสูตรจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นภายในทวารหนักซึ่งในระยะเริ่มต้นยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • ขอบทวารหนักบวมและมีอาการเจ็บรอบ ๆ หรือภายในรูทวารหนักตลอดเวลา
  • อาจมีไข้
  • ปวดในทวารหนัก ปวดมากตอนเบ่งถ่าย
  • มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากทวารหนัก หรือเมื่อถ่ายอุจจาระแล้วมีหนองปนออกมาในระยะเรื้อรัง

 

ฝีคัณฑสูตร

 

ชนิดของฝีคัณฑสูตร

 

ฝีคัณฑสูตรสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ได้แก่

  • Intersphincteric สามารถพบได้บ่อยที่สุด โดยจะเริ่มอักเสบจากต่อมผลิตเมือก และกลายเป็นฝีหนองระหว่างกล้ามเนื้อหูรูดชั้นในและชั้นนอก ซึ่งฝีคัณฑสูตรชนิดนี้สามารถใช้นิ้วเพื่อตรวจคลำหาได้
  • Transphincteric เริ่มต้นอักเสบจากต่อมผลิตเมือกเช่นกัน แต่ฝีหนองจะทะลุผ่านกล้ามเนื้อหูรูดชั้นในและชั้นนอก ซึ่งสามารถตรวจคลำได้ค่อนข้างยาก
  • Suprasphincteric อักเสบจากต่อมผลิตเมือก แต่ฝีหนองจะเกิดขึ้นระหว่างกล้ามเนื้อหูรูดชั้นในและชั้นนอก แต่เมื่อหนองแตกออกจะขึ้นไปด้านบนของหูรูดชั้นนอก และกลับลงมาเป็นที่ขอบทวารหนักอีกครั้ง
  • Extrasphincteric พบได้น้อยมาก เพราะต้องเป็นชนิด Transphincteric มาก่อนจนหนองเกิดการลุกลามขึ้นไปบริเวณส่วนปลายของลำไส้ตรง การตรวจคลำจึงเป็นไปได้ยากมาก

 

ฝีคัณฑสูตรกับริดสีดวง แตกต่างกันอย่างไร ?

 

โรคทั้งสองนี้แม้จะมีอาการคล้ายคลึงกันคือ มีอาการเจ็บบริเวณทวารหนัก อาจถ่ายเป็นเลือด แต่โรคฝีคัณฑสูตรจะไม่สามารถหายเองได้เหมือนโรคริดสีดวง ต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น

 

ภาวะแทรกซ้อนจากฝีคัณฑสูตร

 

  • หากเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันอาจกลายเป็นระยะเรื้อรัง
  • มีผลกระทบต่อการขับถ่ายหรือการกลั้นอุจจาระ
  • มีอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน
  • เกิดการติดเชื้อลุกลามในกระแสเลือด
  • มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกหลังการผ่าตัด

 

การรักษาฝีคัณฑสูตร

 

การรักษาโรคนี้แพทย์มีเป้าหมายเพื่อระบายหนองออกและหยุดอาการอักเสบซ้ำซ้อน นอกจากนี้แพทย์ยังต้องคำนึงความเสียหายของหูรูดด้วยเนื่องจากมีความสำคัญอย่างมากในการกลั้นอุจจาระนั่นเอง โดยวิธีการรักษามีอยู่หลายแบบ โดยต้องปรึกษาและรับคำแนะนำจากแพทย์ตามความเหมาะสม โดยการผ่าตัดแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • การรักษาฝีหนองระยะก่อนเป็นฝีคัณฑสูตร ใช้รักษาในระยะเฉียบพลัน วัตถุประสงค์เพื่อระบายหนองลดการติดเชื้อและอาการปวด
  • การผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรเรื้อรัง วัตถุประสงค์เพื่อลดอาการอักเสบซ้ำซ้อน ใช้รักษาฝีคัณฑสูตรที่มีการติดต่อระหว่างเยื่อบุทวารหนักกับผิวหนัง วิธีการผ่าตัดและขั้นตอนขึ้นอยู่กับชนิดของฝีปกติจะไม่เย็บปิดแผลผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังผ่าตัดเช่นมีเลือดออก น้ำเหลืองซึม การกลั้นอุจจาระและการผายลมไม่สมบูรณ์ (ขึ้นกับชนิดและความลึกของฝี) และมีโอกาสกลับไปเป็นอีกได้

 

การป้องกันฝีคัณฑสูตร

 

โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้เหมือนกับโรคอื่นดังนั้นจึงมีวิธีการดูแลตนเองหลังการผ่าตัดเท่านั้น โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

  • ให้ทานอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำให้เป็นปกติเมื่อหมดฤทธิ์ยาสลบหรือยาชา
  • หาวัตถุเพื่อป้องกันเลือดและหนองที่อาจไหลออกมาเช่น ผ้าอนามัย หรือผ้าก๊อซแบบแผ่นพับ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าปิดแผลและรับการตรวจแผลซึ่งโดยปกติแล้วแผลจะหายได้ในช่วงเวลาประมาณ 8 สัปดาห์
  • แพทย์อาจให้ยาที่มีส่วนช่วยให้อุจจาระนิ่มเพื่อให้ขับถ่ายได้อย่างสะดวก
  • แพทย์อาจให้ยาตามความเหมาะสม เช่น ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของผู้ป่วยด้วย

 

ฝีคัณฑสูตรมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยการรักษาแต่ละวิธีควรตัดสินใจร่วมกันกับหมอเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และควรดูแลตนเองหลังการผ่าตัดจนกว่าจะหายเป็นปกติและคอยติดตามภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย



วิดีโอ โรคฝีคัณฑสูตร (คลิก)

 

 

พูดคุยกับเรา : LINE คลิก

_____________________________________

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง