34-24-35 นี่ไม่ใช่การใบ้หวย แต่เป็นตัวเลขของสัดส่วนทองคำที่หนุ่ม ๆ เห็นแล้วเป็นต้องเหลียวหลังมอง ทำให้สาว ๆ รุ่นใหม่หลายคนใฝ่ฝันว่าอยากให้หุ่นของตัวเองมีสัดส่วนที่สวยงาม น่ามอง บางคนอาจจะโชคดีหน่อยที่กินอาหารมากเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน แต่บางคนเผลอกินเพลินไปเพียงนิดเดียวร่างกายกลับอ้วนฉุขึ้นมาอย่างน่าปวดใจ สาว ๆ ที่อยากหุ่นฟิตหุ่นเฟิร์มจึงต้องลดน้ำหนักอย่างหนัก แต่หากกังวลเรื่องกลัวอ้วนมากจนเกินไป อาจจะส่งผลให้กลายเป็นโรคกลัวอ้วนในที่สุด
อ้วนหรือไม่อ้วนเขาว่ากันว่าให้ลองยืนขึ้นแล้วก้มลงมองเท้าตัวเอง หากมองเห็นนิ้วเท้าแสดงว่ายังไม่อ้วน แต่ถ้าหากมองไม่เห็นนิ้วเท้าแสดงว่าเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน แต่สาว ๆ บางคนแม้จะก้มมองเท้าแล้วเห็นนิ้วเท้าทั้งสิบครบถ้วน แต่เจ้าหล่อนจะยังคงตะบี้ตะบันลดน้ำหนักจนกลายเป็นหนังหุ้มกระดูก ซึ่งการกระทำแบบนี้ไม่ใช่การรักสุขภาพ แต่เป็นการทำร้ายตัวเองเสียมากกว่า ทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคคลั่งผอม”
เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ ผู้ที่ป่วยโรคนี้จะหมกมุ่นอยู่กับการลดน้ำหนัก แม้ตัวเองจะผอมอยู่แล้ว แต่ยังคงต้องการให้ผอมลงอีก เพราะมีความกลัวว่าตัวเองจะอ้วน โดยผู้ป่วยจะพยายามทำทุกทางให้น้ำหนักของตัวเองลดลงเรื่อย ๆ เช่น ลดปริมาณอาหารให้น้อยลงและออกกำลังกายอย่างหนัก รับประทานอาหารไปแล้วแต่ล้วงคอให้อาเจียนเอาอาหารที่รับประทานเข้าไปออกมา รับประทานยาลดความอ้วน และยาระบาย เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวล้วนแล้วแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในวงการบันเทิง หรือเป็นนักแสดงที่มักต้องดูแลรูปร่างของตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ หรือคนที่ได้รับคำดูถูกเรื่องรูปร่าง จนเกิดความกดดันให้ต้องลดความอ้วนอย่างหนัก
อาการที่แสดงออกมาทางร่างกาย
เมื่อเป็นโรคดังกล่าวเราสามารถรับรู้ได้โดยไม่ต้องสงสัยว่าโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้นมีมากมายเกินกว่าจะนับได้แน่นอน ไม่เพียงแต่กับทางกายเท่านั้น ภาวะแทรกซ้อนสามารถเกิดขึ้นกับทางจิตใจของผู้ป่วยได้ด้วย โดยภาวะทางกายที่อาจเกิดขึ้นได้แก่โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ โรคในระบบทางเดินอาหาร มีปัญหาด้านสมองและประสาทรวมไปถึงผลเสียที่สามารถเกิดขึ้นกับกระดูกและกล้ามเนื้อด้วย ส่วนในด้านของจิตใจจะส่งผลให้ผู้ป่วยอาจคิดฆ่าตัวตาย เป็นโรคซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน และเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด เป็นต้น โรคแทรกซ้อนเยอะขนาดนี้บอกเลยว่า “แย่แน่นอน” ดังนั้นเรามารักษาโรคนี้กันเถอะ
สำหรับการรักษาโรคนี้บอกตามตรงว่ายาก แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ อาจพบว่าผู้ป่วยจะมีการต่อต้านการรักษาซึ่งเป็นผลมาจากความคิดของผู้ป่วยเอง ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้ยุ่งยาก พวกเขามักมองว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นไม่ใช่โรคแต่เป็นเพียงการใช้ชีวิตรูปแบบหนึ่งเท่านั้น บ้างอาจกังวลว่าถ้ารักษาน้ำหนักตัวจะต้องเพิ่มขึ้นแน่ ๆ แต่ถ้าพยายามแน่นอนว่าสามารถหายได้แน่นอนคอนเฟิร์ม การรักษานั้นจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการรับบำบัดผ่านการปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ การรับยา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการมากขึ้น โดยเป้าหมายของการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับรูปร่าง ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมีผลในระยะยาวไม่เสี่ยงกลับมาเป็นแบบเดิมอีก แน่นอนว่าผู้ป่วยที่เป็นเด็กนั้นจะมีปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การรักษาเป็นไปได้ด้วยดีแบบผ่านฉลุยนั่นคือ “กำลังใจจากครอบครัว” นั่นเอง รู้แล้วให้รีบมาพบแพทย์ด้วยล่ะ
โรคคลั่งผอมต้องใช้ความตั้งใจและกำลังใจจากครอบครัวเป็นอย่างมากในการผ่านโรคนี้ไปให้ได้ ผู้ป่วยต้องใจสู้สุด ๆ ต้องปฏิบัติตามการบำบัดอย่างเคร่งครัด หากมีปัญหาด้านการทานอาหารสามารถทานวิตามินหรือเกลือแร่เสริมได้ ผู้ป่วยยังต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียวเนื่องจากอาจมีพฤติกรรมลดน้ำหนักเหมือนเดิม และอย่าชั่งน้ำหนักหรือส่องกระจกบ่อยเพราะอาจมีผลต่อความคิดเกี่ยวกับรูปร่างของตนเอง
โรคคลั่งน้ำหนักรักษาได้ยากและต้องใช้ความตั้งใจ แต่ถ้าหากตั้งใจแล้วเรารับประกันเลยว่าคุณจะหายเป็นปกติขอเพียงอย่ายอมแพ้ อย่าอ่อนแอ แม้จะร้องไห้ โรงพยาบาลเพชรเวชขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคคลั่งผอมทุกคน