BURNOUT SYNDROME
งานหนักไปไหม BURNOUT SYNDROME ภาวะหมดไฟจากการทำงาน

“ภาวะหมดไฟ” จุดเริ่มต้นจากการทำงานที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ และยังไม่สามารถยอมรับผลงานที่เกิดขึ้นได้ หากปล่อยไว้นานจะยิ่งมีความเสี่ยงกลายเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อเกิดภาวะนี้จึงต้องรีบพักผ่อน ปรับตัว และหาทางออกร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานจะสามารถแก้ไขภาวะหมดไฟได้เร็วยิ่งขึ้น

 

BURNOUT SYNDROME คืออะไร

 

เป็นสภาวะด้านจิตใจที่เกิดจากความเหนื่อยล้า หรือเกิดจากความเครียดจากการทำงานส่งผลให้มีประสิทธิภาพของงานลดลง ไม่มีแรงผลักดันให้อยากทำงานต่อ และเริ่มมีความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ ในบางรายอาจส่งผลให้ไม่ต้องการพบเจอใคร และมีโอกาสในการพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุดหากสิ่งแวดล้อมไม่ดีขึ้น หรืออยู่ในสภาพจิตใจเช่นนี้บ่อยครั้ง

 

สาเหตุของอาการหมดไฟ

 

สาเหตุหลักมาจากการทำงานที่ไม่ตรงตามที่คาดหวังไว้ เช่น ภาระงานที่หนักเกินไป ความยากของงานกับช่วงเวลาที่น้อยเกินไป ไม่มีความชำนาญในสายงานที่ทำอยู่ ไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ หรือค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงภาวะหมดไฟนอกจากคนวัยทำงานทั่วไป ได้แก่

 

  • แม่บ้านที่มีภาระงานหนัก เช่น ดูแลความเรียบร้อยในบ้านร่วมกับเลี้ยงลูกโดยไม่มีคนช่วยเป็นเวลานาน
     
  • คนที่ติดความสมบูรณ์แบบต้องการให้สิ่งที่ทำออกมาดีที่สุดโดยไม่ยอมยืดหยุ่นผลงานให้เกิดความผ่อนคลายมากขึ้น
     
  • ผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหา เช่น ทะเลาะบ่อยมีปากเสียงกันเป็นประจำ เป็นต้น

 

หมดไฟจากการทำงาน

 

สัญญาณ และอาการของ BURNOUT SYNDROME

 

อาการของสภาวะหมดไฟจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนโดยสามารถสัมผัสได้จากตัวของเราเองโดยตรง อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งทางกาย และจิตใจ ดังนี้

 

  • อาการทางร่างกาย เริ่มอ่อนแรง อ่อนเพลีย มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการปวดอาจเป็นในลักษณะเรื้อรัง ไม่ค่อยมีสมาธิ
     
  • อาการทางด้านจิตใจ ไร้แรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกเบื่อ เริ่มมีความคิดแง่ลบ ไม่พอใจงานของตนเอง ไม่อยากพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน และโมโหง่าย

 

เมื่ออยู่ในภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้เราเริ่มออกห่างจากสังคมต้องการอยู่คนเดียว ไม่ตั้งใจทำงาน ต้องการขาดงาน ความรับผิดชอบน้อยลง ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นความเครียด และอาจนำพาไปสู่การใช้สารเสพติดได้

 

ระยะของการเกิดภาวะหมดไฟ

 

  1. ทุ่มเทกับการทำงานอย่างตั้งใจ พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงออกมาดี
     
  2. งานที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรือที่ทุ่มเทไป ทำให้เกิดความผิดหวัง
     
  3. เริ่มมีความเครียด และความเหนื่อยล้าเริ่มมีพฤติกรรมออกจากสังคม และวิจารณ์องค์กรตนเอง
     
  4. หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขจะเข้าสู่ช่วงสิ้นหวัง เป็นการหมดไฟอย่างสมบูรณ์
     
  5. หลังผ่านไประยะหนึ่งจะสามารถปรับการทำงานให้ดีขึ้นได้ หากได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่

 

หมดไฟแล้วต้องทำอย่างไร

 

  • พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ
     
  • ไม่นั่งคิดเรื่องงานมากจนเกินไป
     
  • พัฒนาทักษะการทำงานให้ดีขึ้น
     
  • เปิดใจคุย หรือปรึกษาเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่

 

อาการหมดไฟสามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ระวัง ถึงแม้จะไม่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่สามารถส่งผลต่อสิ่งรอบตัวได้ทั้งผู้คน หรือหน้าที่การงาน ดังนั้นเมื่อมีอาการหมดไฟให้พักผ่อนร่างกาย และผ่อนคลายจิตใจถือเป็นการดีที่สุด