กระดูกสันหลังหัก ความเสี่ยงถึงขั้นเป็นอัมพาต
กระดูกสันหลังหัก ความเสี่ยงถึงขั้นเป็นอัมพาต

กระดูกสันหลัง เป็นอวัยวะที่สำคัญ เนื่องจากมีไขสันหลัง และเส้นประสาทไขสันหลัง ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการทำงานของแขน และขา  รวมทั้งเป็นแกนกลางรองรับน้ำหนักตัว หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจนทำให้กระดูกสันหลังหัก มีความเสี่ยงถึงขั้นเป็นอัมพาต ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถเคลื่นไหวได้ ดังนั้นควรรู้จักการป้องกันการเกิดอันตรายบริเวณกระดูกสันหลัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในประจำวัน

 

 

กระดูกสันหลังหักเกิดจากสาเหตุใด

 

อุบัติเหตุต่างๆ ได้แก่

      

  • การพลัดตกจากที่สูง

      

  • อุบัติเหตุทางจราจร

           

  • อุบัติเหตุจากการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา

           

  • การใช้ความรุนแรงจากการทะเลาะวิวาท

 

สาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังหัก ได้แก่

      

  • กระดูกพรุน

      

  • เนื้องอกในกระดูกสันหลังหัก

 

 

อาการกระดูกสันหลังหัก

 

หลังจากการเกิดอุบัติเหตุ หรือหลังได้รับการบาดเจ็บจะมีอาการ ดังนี้

      

  • อาการปวดอย่างรุนแรงที่บริเวณกระดูกสันหลัง

           

  • การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ

 

หากชิ้นส่วนของกระดูกสันหลังที่หัก หรือแตก ได้เกิดการเคลื่อนไปกดทับไขสันหลัง หรือเส้นประสาทจะมีอาการ แขน และขามีอาการชา และอ่อนแรง

 

 

การวินิจฉัยกระดูกสันหลังหัก

      

  • การเอกซเรย์ (X-rays) บริเวณกระดูกสันหลัง เพื่อหาตำแหน่งที่มีการบาดเจ็บ อย่างชัดเจน

      

  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อประเมินลักษณะการแตกหัก และการเคลื่อนตัวของกระดูกสันหลัง

      

  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)  เพื่อการประเมินเอ็นด้านหลังของกระดูกสันหลังร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บของเส้นประสาท หรือการบาดเจ็บไขสันหลัง

 

 

การรักษากระดูกสันหลังหัก

 

การรักษาแบบประคับประคอง

      

  • การใช้ยา เพื่อลดอาการปวด

      

  • การใช้อุปกรณ์พยุงหลัง จะใช้เวลา 8-12 สัปดาห์ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อลดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง และป้องกันอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม 

 

การผ่าตัด

      

  • การผ่าตัดยึดตรึง และเชื่อมกระดูกสันหลัง ช่วยบรรเทาอาการปวด ระบบประสาทมีการฟื้นตัวดีขึ้น ลดการกดทับ ในผู้ป่วยที่มีภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท

 

การใช้เทคโนโลยี

      

การฉีดซีเมนต์เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลัง (Vertebroplasty and Kyphoplasty) ใช้ในผู้ป่วยกระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกพรุน และเนื้องอกบริเวณไขสันหลัง การรักษานี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดระยะเวลาในการพักฟื้น ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ

                

  • Vertebroplasty การฉีดซีเมนต์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลัง

                

  • Kyphoplasty การใช้บอลลูนขยายในบริเวณกระดูกสันหลังที่มีการหัก หรือยุบตัว ซึ่งจะช่วยให้ลดการเกิดกระดูกสันหลังผิดรูป และป้องกันการหักซ้ำของกระดูกสันหลัง

 

 

กระดูกสันหลังหัก

 

 

หากพบผู้ประสบอุบัติเหตุกระดูกสันหลังหัก ควรทำอย่างไร

           

ในการเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุบัติเหตุกระดูกสันหลังหัก ต้องใช้ความชำนาญ หากเคลื่อนย้ายไม่ถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อผู้บาดเจ็บได้ ดังนั้นควรให้ผู้บาดเจ็บนอนราบลงกับพื้น โดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายแต่อย่างใด และเรียกเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือรถพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาต่อไป

 

 

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด หากเกิดการบาดเจ็บจนกระดูกสันหลังหัก เนื่องจากมีมวลกระดูกน้อยลง จากความเสื่อมตามวัยของธรรมชาติ และภาวะกระดูกพรุน ดังนั้นควรป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การหกล้ม หรือหากเกิดการบาดเจ็บขึ้นมาแล้ว ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์รักษาทันที