ภาวะหัวใจโต อาการที่ไม่ควรมองข้าม
ภาวะหัวใจโต อาการที่ไม่ควรมองข้าม

หัวใจโต (Cardiomegaly) คือ ภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น หากพบว่าคนในครอบครัวมีปัจจัยเสี่ยงควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยภาวะหัวใจโตเพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที โดยวิธีการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด คือ การทำอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram)

 

สาเหตุของภาวะหัวใจโต

 

ภาวะความผิดปกติของหัวใจนี้มีสาเหตุมาจากอาการเจ็บป่วย เป็นโรคที่ส่งผลกับหัวใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เมื่อหัวใจเกิดความเสียหายหรือต้องทำงานหนักจะทำให้เกิดภาวะหัวใจโต ดังนี้

  • เกิดจากโรคและอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลต่อหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
  • โรคอื่นที่เพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจโต เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง หรือมีธาตุเหล็กมากเกินไป
  • ผู้ที่มีเครือญาติเคยป่วยเป็นภาวะหัวใจโต หรือเคยป่วยเป็นโรคด้านหัวใจ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด
  • คนในกลุ่มผู้สูงอายุจะยิ่งเสี่ยงภาวะหัวใจโต

 

อาการของภาวะหัวใจโต

 

ปกติแล้วอาการของภาวะหัวใจโตในช่วงระยะแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่เมื่อเกิดภาวะหัวใจโตแล้วส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจจะสามารถแสดงอาการที่เป็นจุดสังเกต ได้แก่

  • มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่สม่ำเสมอ หรือใจสั่น
  • รู้สึกเหนื่อยหายใจหอบลำบาก แน่นหน้าอก
  • น้ำหนักตัวขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล ขาบวมขึ้น
  • มีอาการไอบ่อยครั้งตอนนอน

 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหัวใจโต

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมีอยู่หลายแบบล้วนแล้วแต่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือStroke เป็นต้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเสียหายของหัวใจตามจุดต่าง ๆ รวมไปถึงสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจโตด้วย

 

ภาวะหัวใจโต

 

การวินิจฉัยภาวะหัวใจโต

 

แพทย์จะทำการซักถามประวัติและอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ประกอบกับการตรวจวินิจฉัยการทำงานของหัวใจเพื่อหาความผิดปกติที่สามารถบ่งบอกถึงความเสี่ยงภาวะหัวใจโต สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ ทำให้ทราบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจได้
  • ตรวจเอกซเรย์ (X-ray) เพื่อใช้วินิจฉัยขนาดของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือใหญ่ขึ้นหรือไม่
  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echo) คลื่นความถี่สูงสามารถทำให้แพทย์เห็นลักษณะขนาดของหัวใจ รวมถึงลักษณะของกล้ามเนื้อหัวใจ และหาสาเหตุเบื้องต้นได้แม่นยำที่สุด

 

การรักษาภาวะหัวใจโต

 

  • ดูแลตนเองระหว่างการรักษา สำหรับการดูแลตนเองระหว่างทำการรักษาสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันหรือของทอด เลี่ยงแอลกอฮอล์ ดูแลเรื่องน้ำหนักและความดันโลหิต นอกจากนี้ควรให้เวลาพักผ่อนกับร่างกายให้เพียงพอ และปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีออกกำลังกายให้เหมาะสม
  • รักษาโดยการใช้ยา ในบางกรณีแพทย์จะใช้การจ่ายยาเพื่อช่วยในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการด้านหัวใจ เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจมีความผิดปกติ เป็นต้น
  • รักษาด้วยการผ่าตัด วิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น หากเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจสามารถรักษาได้ด้วยการทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ) หรือหากมีสาเหตุจากลิ้นหัวใจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ หรือผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นต้น

 

การป้องกันภาวะหัวใจโต

 

หากพบว่ามีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจโตสามารถทำให้เพิ่มความเสี่ยงได้จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหากพบโรคดังกล่าวจะได้รักษาได้ทันก่อนเกิดภาวะหัวใจโตนอกจากนี้ยังสามารถปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อป้องกันภาวะร้ายนี้ ได้แก่

  • เลี่ยงอาหารที่ทำให้อ้วน หรืออาหารที่ทำให้ร่างกายมีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และสารเสพติด

หากเราสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงโรคร้ายด้วยการดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอจะสามารถลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจโตได้อย่างดีแน่นอน