โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบที่มากับอาการปวดศีรษะ
โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง ภัยเงียบที่มากับอาการปวดศีรษะ

ในร่างกายของเรามีหลอดเลือดที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ หลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำ โดยหลอดเลือดแดง (Artery) จะมีหน้าที่ลำเลียงเลือดที่มีออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนหลอดเลือดดำจะทำหน้าที่นำเลือดเสียจากอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายไปฟอกที่ปอด หากเกิดความผิดปกติที่หลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) ที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงตามอวัยวะสำคัญย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย และบางรายอาจถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้ โดยโรคเส้นเลือดที่เป็นอันตรายไม่แพ้โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน นั่นคือ “โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง”

 

เลือกอ่านตามหัวข้อคลิก
 

 

 

โรคเส้นเลือดโป่งพองในสมองคืออะไร

 

 

โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) เกิดจากการเสื่อมสภาพของผนังเส้นเลือดเฉพาะจุด ทำให้ผนังเส้นเลือดบริเวณนั้นมีลักษณะบางลงกว่าบริเวณอื่น เมื่อมีความดัน หรือมีกระแสเลือดไหลผ่านไประยะหนึ่งจะทำให้บริเวณผนังหลอดเลือดที่บางนั้นโป่งพองขึ้นคล้ายบอลลูน และอาจแตกออกได้ในเวลาต่อมา ซึ่งจะก่อให้เกิดการเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น โรคถุงน้ำที่ไต ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบ และอุบัติทางสมองที่มีการบาดเจ็บของเส้นเลือดสมอง เป็นต้น โรคนี้อาจเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดโดยไม่มีอาการเตือนจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เส้นเลือดที่โป่งพองนั้นแตก และเสียชีวิตได้อย่างกะทันหัน

 

เส้นเลือดสมองโป่งพอง

 

อาการโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง

 

  • กลุ่มที่มีการแตกออกของเส้นเลือดสมองโป่งพอง ทำให้เกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณต้นคออย่างรุนแรง และเฉียบพลัน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติหลังจากปวดศีรษะ เมื่อฟื้นขึ้นมาจะยังคงมีอาการปวดศีรษะ และต้นคออย่างรุนแรง หากเกิดอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
  • กลุ่มที่มีเส้นเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่ หากมีเส้นเลือดโป่งพองขนาดใหญ่แล้วกดทับเนื้อเยื่อสมองหรือเส้นประสาทสมอง อาการที่แสดงออกมาจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกดทับ เช่น หากกดทับบริเวณเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวบริเวณใบหน้า เป็นต้น เมื่อเกิดเส้นเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่จะทำให้เลือดไหลวนอยู่ภายในจนอาจมีลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันในเส้นเลือดสมองส่วนปลายทำให้สมองขาดเลือด อาการที่แสดงออกจะเป็นไปตามบริเวณของสมองที่ขาดเลือด

 

อาการปวดศีรษะสัญญาณเส้นเลือดสมองโป่งพอง

 

ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง มักจะเกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ทันเวลาอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะเส้นเลือดที่โป่งพองอาจเกิดการขยายและกดทับเส้นประสาท หากปล่อยให้หลอดเลือดโป่งพองและแตกออกจะทำให้เกิดเลือดคั่งในสมอง โดยก้อนเลือดนั้นอาจไปกดเบียดเนื้อสมองทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตได้อีกด้วย นอกจากนี้เรายังสามารถสังเกตอาการอื่น ๆ ได้ ดังนี้
 

  • สับสน ซึมลง
     
  • แขนขาอ่อนแรง
     
  • หน้าเบี้ยวครึ่งซีก
     
  • มีอาการเหน็บชาตามร่างกายครึ่งซีก
     
  • พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด รวมถึงมีอาการกลืนลำบาก และสำลัก
     
  • เห็นภาพซ้อน ภาพมัว มองไม่ชัด

 

การรักษาเส้นเลือดสมองโป่งพอง

 

วิธีการรักษาโรคนี้มีหลายประการ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาถึงตำแหน่ง ขนาด และรูปร่างของเส้นเลือดที่โป่งพอง รวมถึงอายุ และสุขภาพของผู้ป่วยด้วย โดยเส้นเลือดสมองโป่งพองในสมองจะมีวิธีการรักษา ดังนี้
 

  • การใส่ขดลวด (coil) หรือการใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (clipping) เป็นวิธีการห้ามไม่ให้มีเลือดผ่านเข้าไปบริเวณที่มีการโป่งพอง เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดขยายมากขึ้นจนอาจเกิดการแตกออกของเส้นเลือดได้
     
  • การผ่าตัดสมอง เพื่อปิดซ่อม ผนังหลอดเลือดที่โป่งพอง หากมีก้อนเลือดในสมอง แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนเลือดในเนื้อสมองออก
     
  • ให้ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers) เพื่อลดการเกิดภาวะสมองขาดเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการหดเกร็งของหลอดเลือดในสมอง

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเส้นเลือดโป่งพองในสมอง

 

โรคนี้จะรู้ตัวได้ก็ต่อเมื่อมีอาการปวดศีรษะ หรือเกิดอาการที่แสดงออกมากแล้วเท่านั้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ตรวจพบโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองได้ ซึ่งกลุ่มที่ตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยบังเอิญ มักเป็นกลุ่มที่ไม่มีการแสดงอาการใด ๆ แต่ตรวจพบโรคได้จากการตรวจสมอง เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองความเร็วสูง (CT Scan) เป็นต้น

 

การป้องกันโรคเส้นเลือดโป่งพองในสมอง

 

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง และเน้นรับประทานผัก ผลไม้ให้มาก
     
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
     
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
     
  • หากพบว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นเส้นเลือดสมองโป่งพอง ควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงทุกปี
     
  • ผู้ที่เป็นโรคนี้ต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก

 

แม้โรคเส้นเลือดโป่งพองในสมองจะเป็นภัยเงียบที่ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า แต่หากมีอาการปวดหัวที่ผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาก่อนที่อาการจะรุนแรง และยากต่อการรักษา



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI