ตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจด้วยการเอกซเรย์ปอด
ตรวจหาความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจด้วยการเอกซเรย์ปอด

การเอกซเรย์ปอด คือ การตรวจทางรังสีวิทยาแบบหนึ่ง โดยการฉายรังสีเอกซ์ไปยังส่วนของหน้าอก และปอด ลงบนแผ่นฟิล์ม เมื่อนำฟิล์มไปล้างจะได้ภาพเอกซเรย์ของปอด ซึ่งแพทย์จะใช้ในการตรวจวินิจฉัยความสมบูรณ์ หรือความผิดปกติของอวัยวะระบบทางเดินหายใจ ในช่วงบริเวณทรวงอก เนื้อปอด เส้นเลือดในปอด รวมทั้งกระดูกซี่โครง กระดูกไหปลาร้า และกะบังลม

 

 

ประโยชน์ของการเอกซเรย์ปอด

 

  • 1. ใช้ในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของปอด และอวัยวะภายในทรวงอก เช่น ปอดอักเสบ มะเร็งปอด ปอดบวม ความผิดปกติของขนาด และรูปร่างหัวใจ รวมทั้งความผิดปกติของกระดูกไหปลาร้า และกระดูกซี่โครง

 

  • 2. ใช้ในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติ จากอาการป่วย เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด การบาดเจ็บของอวัยวะภายในทรวงอก และอาการหายใจลำบาก

 

  • 3. ใช้เตรียมการก่อนผ่าตัด

 

  • 4. ใช้ในการตรวจก่อนเข้าทำงาน หรือเดินทางไปยังต่างประเทศ

 

  • 5. ใช้ในการติดตามอาการผู้ป่วย หลังจากการผ่าตัด

 

 

ข้อแนะนำก่อนการเอกซเรย์ปอด

 

  • 1. ควรสวมเสื้อผ้าขนาดพอดีกับร่างร่างกาย หลวมบ้างเล็กน้อย ไม่ควรใส่ขนาดคับจนเกินไป

 

  • 2. ไม่ควรใส่เครื่องประดับ ที่เป็นโลหะ เช่น สร้อยคอ นาฬิกาข้อมือ เพราะ เครื่องประดับเหล่านี้จะทำให้ภาพเอกซเรย์ ผิดปกติ ส่งผลในการตรวจวินิจฉัยได้

 

  • 3. สำหรับผู้หญิงควรรวบผมขึ้นให้เลยบริเวณต้นคอ

 

  • 4. สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการเอกซเรย์ปอด เพราะ เซลล์ของทารกในครรภ์จะมีความไวต่อรังสีเอกซ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ และผู้ตั้งครรภ์

 

 

วิธีการเอกซเรย์ปอด

 

  • 1. ผู้เข้ารับการเอกซเรย์ปอด จะได้รับการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เหมาะสมสำหรับการเอกซเรย์ปอด ผู้หญิงต้องถอดชุดชั้นในออก และรวบผมขึ้น

 

  • 2. เจ้าหน้าที่จะจัดท่าให้ผู้เข้ารับการเอกซเรย์ปอด ซึ่งอาจจะอยู่ในท่ายืน นั่ง หรือนอนหงาย

 

  • 3. เจ้าหน้าที่จะให้สัญญาณ ผู้เข้ารับการเอกซเรย์ปอดจะต้องหายใจ และกลั้นหายใจให้เต็มปอด

 

  • 4. ในการเอกซเรย์ปอดนั้น ใช้เวลาเพียงไม่นาน สามารถฉายรังสีเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น

 

 

เอกซเรย์ปอด

 

 

ผลการเอกซเรย์ปอด

 

ผลการเอกซเรย์ปอดนั้นจะอยู่ในเงาของแผ่นฟิล์มขนาดใหญ่  แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันผลการเอกซเรย์ปอดสามารถ ถ่ายภาพลงบนกระดาษ ซีดี และดีวีดีได้ แต่การแปรผลจากเงาในการเอกซเรย์ปอดนั้นยังสามารถเกิดความผิดพลาดได้ แพทย์ยังต้องใช้การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นๆร่วมด้วย เช่น การตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นต้น

 

 

ในการเอกซเรย์ปอดนั้นยังมีข้อจำกัดในแต่ละบุคคล เช่น ผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้น จะทำให้ขั้นตอนในการกลั้นหายใจทำได้ไม่เหมือนบุคคลปกติ บุคคลที่มีประวัติเคยได้รับการผ่าตัดที่บริเวณปอด หรือมีอุปกรณ์โลหะที่ฝังอยู่บริเวณปอด จะทำให้การแปลผลฟิล์มเอกซเรย์มีความผิดพลาดได้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทำการเอกซเรย์ปอด

 

 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

 

โปรแกรมตรวจสุขภาพปอด