ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่วัย 40
ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่วัย 40

ปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) คือ โรคในกลุ่มอาการปอดอักเสบเรื้อรัง เนื่องจากอวัยวะภายในระบบหายใจ ได้รับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นหลอดลม เนื้อปอด เกิดการอักเสบขึ้น เมื่อหลอดลมเกิดภาวะตีบแคบลง หรือถูกอุดกั้น ไม่สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ โดยปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่วัย 40 และผู้ป่วยโรคหืดที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ และไม่สามารถทำการรักษาได้ ต้องอยู่กับอาการเรื้อรังไปตลอด

 

 

สาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 

การสูบบุหรี่

      

  • การสูดเอาควันบุหรี่ หรือควันที่เกิดจากการเผาไหม้ทุกชนิด สร้างความระคายเคืองกับระบบทางเดินหายใจ ทำลายผนังด้านในของปอด

 

มลพิษทางอากาศ

      

  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และโรงงานต่างๆ รวมทั้งพื้นที่ ที่มีควันพิษ และกลิ่นของสารเคมี เมื่อสูดดมสิ่งเหล่านี้เข้าไป มันจะไปทำลายเนื้อเยื่อปอด ส่งผลให้ปอดทำงานผิดปกติ

 

โรคทางพันธุกรรม

      

  • โรคการขาดอัลฟ่า 1 (Alpha-1-Antitrypsin Deficiency) ตับ และปอดถูกทำลาย จากการขาดอัลฟ่า 1 ที่เป็นเอนไซม์ที่สร้างจากตับ ไหลเข้าสู่กระแสเลือด มีหน้าที่ป้องกันปอดถูกทำลาย

 

 

อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 

อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะเริ่มแรก

      

  • ไอ มีเสมหะ

      

  • หอบ เหนื่อยง่าย

      

  • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก

 

อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะรุนแรง

      

  • น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ จนสูบผอม

      

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง

      

  • เล็บ และปาก เปลี่ยนเป็นสีม่วง

      

  • ไอเป็นเลือด

      

  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

      

  • ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

 

 

การวินิจฉัยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 

โดยในขั้นแรกนั้นแพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกายเบื้องต้น สอบถามพฤติกรรมการสูบบุหรี่ หรือสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นจะทำการตรวจอย่างละเอียด ได้แก่

      

  • การตรวจเอกซเรย์ที่บริเวณทรวงอก เพื่อหาความผิดปกติของปอด และอวัยวะบริเวณช่วงอก

      

  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) แพทย์จะทราบความผิดปกติของปอดงผู้ป่วยอย่างละเอียดมากขึ้น สามารถวางแผนในการรักษาขั้นต่อไปได้

      

  • การตรวจวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ตรวจวัดการทำงานของปอด จากปริมาณแก๊สออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ในโลหิต

      

  • การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) เป็นการตรวจการทำงานของปอด วัดปริมาตรอากาศหายใจภายในปอด และความเร็วที่หายใจออกแต่ละครั้ง ก่อนทำการตรวจแพทย์จะใช้ยาพ่นขยายหลอดลมแก่ผู้ป่วยก่อน เป่าลมหายใจผ่านเครื่องมือ Spirometry

 

 

การรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 

การใช้ยา

      

  • ยาขยายหลอดลม ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจง่ายขึ้น  ซึ่งจะแบ่งตามระยะเวลาของอาการกำเริบ หากอาการกำเริบเป็นระยะๆ เช่น ยาไอปราโทรเปียม ยาซัลบูทามอล หากมีอาการเกี่ยวกับการหายใจที่ผิดปกติเป็นประจำ จะใช้ยาไทโอโทรเปียม ยาฟอร์โมเทอรอล ยาซาลเมเทอรอล เป็นยาผสมกัน 2 ชนิดขึ้นไป เพื่อป้องกันอาการเรื้อรัง

      

  • ยาปฏิชีวนะ  ใช้สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อบริเวณทรวงอก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน และโรคปอดบวม เป็นต้น

      

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

      

  • ยาทีโอฟิลลีน

 

การฟื้นฟูการทำงานของปอด

      

  • หรือการรักษาแบบประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงมากกว่าเดิม หรือให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ โดยการปรับพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย

 

การบำบัดด้วยออกซิเจน

      

  • ผู้ป่วยอาการรุนแรงต้องได้รับออกซิเจนเข้าสู่ปอดผ่านเครื่องมือ เป็นระยะๆ เนื่องจากมีปริมาณออกซิเจนในเลือดไม่เพียงพอ

 

การผ่าตัด

      

  • เหมาะสำหรับผู้ป่วยบางกรณี เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงกับผู้ป่วยได้

 

 

ปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 

 

การป้องกันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

      

  • ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ รวมทั้งควันที่เกิดจากการเผาไหม้อื่นๆ

      

  • หลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีทุกชนิด

      

  • หลีกเลี่ยงสภาพมลภาวะเป็นพิษ

      

  • ใช้อุปกรณ์ป้องกันพิษจากอากาศ เช่น หน้ากากกรองฝุ่น หรือเครื่องกรองอากาศ

      

  • การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

      

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

      

  • ตรวจสุขภาพประจำปี ให้เหมาะสมกับช่วงวัย

 

 

ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้น เช่น ผู้ที่ทำงาน หรืออาศัยอยู่บริเวณโรงงานอุตสาหกรรม ในเหมืองแร่  ผู้ที่ทำงานอยู่ในแหล่งอโคจรที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น หากมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ เหนื่อยหอบ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ และรักษา เพราะโรคปอดอุดกั้น มีอาการที่ใกล้เคียงกับโรคอื่นๆ เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ ภาวะโลหิตจาง หรือภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

โปรแกรมตรวจสุขภาพปอด