ซีสต์ในรังไข่คืออะไร ใช่มะเร็งหรือไม่
ซีสต์ในรังไข่คืออะไร ใช่มะเร็งหรือไม่

"ซีสต์ หรือ cyst" ในภาษาอังกฤษแปลว่า “ถุงน้ำ” โดยร่างกายของคนเรามีโอกาสที่จะเกิดซีสต์ได้แทบทุกอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง กระดูก หรือแม้กระทั่งสมอง แต่อวัยวะภายในของเพศหญิงจะมีความพิเศษกว่าเพศชาย เพราะเพศหญิงจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ คือ มดลูก และรังไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเกิดซีสต์ได้ง่าย โดยเฉพาะรังไข่ เพราะเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุง ดังนั้นโรคซีสต์จึงไม่ใช่โรคไกลตัวของคุณผู้หญิงเลย เราควรทำความรู้จักโรคซีสต์ที่มักเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในของเรากันดีกว่า

 

ซีสต์ในรังไข่เป็นอย่างไร

 

ซีสต์ในรังไข่ (Cystic Ovary) จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • Functional Cyst เป็นถุงน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บไข่ที่เป็นเซลล์สืบพันธ์ุ เมื่อถุงน้ำโตขึ้นแล้วจะแตกออกทำให้ไข่ไหลออกมา แล้วถุงน้ำนั้นจะค่อย ๆ ยุบตัวไปเอง
  • Ovarian Cyst หรือ Ovarian Tumor เป็นเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ชนิดไม่ร้ายแรง ซึ่งถุงน้ำชนิดนี้จะมีลักษณะเฉพาะ คือ ภายในจะบรรจุน้ำ ไขมัน เส้นผม หรือกระดูกและฟัน
  • Tumor like condition เป็นถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) เป็นถุงน้ำรังไข่ที่มีของเหลวอยู่ข้างใน ซีสต์จะเกิดจากการตกไข่ผิดปกติ ทำให้มีของเหลวคั่งในรังไข่มากกว่าปกติ ซึ่งของเหลวที่ว่านี้ไม่ใช่ช็อกโกแลตเหมือนชื่อของโรคแต่อย่างใด แต่เป็นเลือดประจำเดือนที่คั่งค้างอยู่ในถุงน้ำเป็นเวลานานจนกลายเป็นสีน้ำตาล และมีลักษณะเหมือนช็อกโกแลตซีสต์นั่นเอง

 

อาการของโรคซีสต์ในรังไข่

 

อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำที่เกิดขึ้น บางรายอาจไม่มีอาการ หรือบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • คลำเจอก้อนที่หน้าท้อง
  • ปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อย
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย หรือมามากผิดปกติ
  • ท้องอืด แน่นท้อง
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากมีถุงน้ำรังไข่แตก  หรือมีการบิดของถุงน้ำ หากเป็นในกรณีนี้ควรรีบพบแพทย์       

 

ซีสต์ในรังไข่

 

ซีสต์ในรังไข่อันตรายแค่ไหน

 

ซีสต์ในรังไข่มักพบได้ในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ เมื่อมีประจำเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกนี้จะมีเลือดซึมออกมาสะสมในถุงน้ำจนเป็นเลือดเก่าข้น ในระยะแรกโรคนี้จะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานจนถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจจะส่งผลให้มีอาการปวดท้องรุนแรงได้ โดยถุงน้ำนี้มีเปอร์เซ็นต์ที่จะกลายไปเป็นมะเร็งนั้นมีค่อนข้างน้อย เพราะบางรายสามารถหายได้เอง

 

เมื่อเป็นซีสต์ในรังไข่รักษาอย่างไร

 

การรักษาซีสต์ในรังไข่จะมีวิธีที่หลากหลาย บางรายอาจต้องผ่าตัด แต่บางรายอาจทำเพียงแค่ติดตามอาการเท่านั้น โดยการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ จะมีรายละเอียด ดังนี้

  • ติดตามอาการ หากพบว่าเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แพทย์จะนัดตรวจอาการว่าถุงน้ำมีขนาดโตขึ้นหรือไม่ โดยอาจต้องรับประทานยาคุมกำเนิด
  • การผ่าตัด จะมีทั้งการผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉิน และแบบฉุกเฉิน โดยการผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉินจะใช้รักษาในกรณีที่มีซีสต์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรยาก อาจจะผ่าตัดเอาซีสต์ออกอย่างเดียว หรือตัดรังไข่ออกทั้งหมดขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วย ชนิด และขนาดของซีสต์ ส่วนการผ่าตัดแบบฉุกเฉินมักทำในกรณีที่ถุงน้ำรังไข่แตก หรือถุงน้ำรังไข่มีขั้วบิด

 

การป้องกันซีสต์ในรังไข่

 

สาเหตุของซีสต์ในรังไข่ยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มักเกิดจากเซลล์เยื่อบุของท่อนำไข่มีการกลายเซลล์ที่ผิดปกติ โดยสามารถสังเกตได้จากประจำเดือนมาผิดปกติ มีอาการปวดท้อง ปัสสาวะ หรืออุจจาระผิดปกติ

การป้องกันการเป็นซีสต์ในรังไข่ หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับภายในของผู้หญิงที่ดีที่สุด คือ การอัลตราซาวด์มดลูก และรังไข่ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถทำให้เราพบความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับมดลูกและรังไข่ได้

 

แม้ซีสต์ในรังไข่จะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้น้อย แต่การตรวจสุขภาพ หรือการอัลตราซาวด์มดลูก และรังไข่ยังมีความจำเป็นเพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคซีสต์ในรังไข่ที่เกิดขึ้นกับในเฉพาะผู้หญิงได้

 

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง