โรคเอ็นข้อมืออักเสบ
เอ็นข้อมืออักเสบ ระวังไว้โรคใกล้ตัว

 

เอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s Tenosynovitis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น และเส้นเอ็นบริเวณข้อมือทางฝั่งนิ้วโป้ง ทำให้เกิดการกดทับของเส้นเอ็นภายใน ส่วนใหญ่จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 8 เท่า และหากปล่อยปละละเลย ความเจ็บปวดเพียงเล็กน้อยอาจทวีความรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโรคที่ทำให้เราต้องทุกข์ทรมานในอนาคต

 

 

เอ็นข้อมืออักเสบ อาการเป็นอย่างไร

 

 

ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดเจ็บตรงบริเวณเอ็นโคนนิ้วหัวแม่มือ และอาจมีอาการปวดขึ้นอย่างกะทันหัน หรือค่อยเป็นค่อยไป บางรายอาจมีอาการชาที่นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ร่วมด้วย โดยอาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อหยิบจับสิ่งของ หรือการออกแรงที่มือโดยตรง บางรายที่มีอาการรุนแรง อาจจะมีอาการบวมที่บริเวณนิ้วหัวแม่มือ จนปวดเวลาขยับข้อมือ หรือหยิบจับสิ่งของ

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของเอ็นข้อมืออักเสบ 

 

 

  • ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี 

 

 

  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และโรครูมาตอยด์ เป็นต้น

 

 

  • จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

 

 

ใช้งานโทรศัพท์มือถือนาน

 

 

  • ผู้ที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

 

 

  • ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องใช้งานข้อมือ เช่น พ่อ และแม่ครัว, ช่างไม้ เป็นต้น

 

 

ทำไมผู้หญิงถึงเป็นมากกว่าผู้ชาย

 

 

งานบ้านงานเรือน เป็นหน้าที่สำคัญของผู้หญิงทุกท่านเสมอ และการออกแรงทำงานบ้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกวาดบ้าน, ถูบ้าน, บิดผ้า, ซักผ้า หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงลูก ทุกอย่างย่อมต้องใช้มืออันบอบบางเพื่อดำเนินกิจวัตรเหล่านั้นทั้งสิ้น กิจวัตรดังกล่าวย่อมส่งผลให้ข้อมือของผู้หญิงเกิดการอักเสบ เพราะมีการเคลื่อนไหวที่มากเกินไป นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ประกอบอาชีพที่ต้องใช้มือซ้ำ ๆ และอาจมีสาเหตุมาจากผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังได้อีกด้วย

 

 

เอ็นข้อมืออักเสบรักษาอย่างไร

 

 

รับประทานยาแก้อักเสบ

 

 

  • การรับประทานยา หากมีอาการปวดควรรับประทานยาแก้อักเสบเพื่อลดอาการบวมของเส้นเอ็น

 

 

  • หลีกเลี่ยงการใช้งานมือข้างที่เจ็บ เพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานมือ หรือพยายามหยุดการใช้งาน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใส่อุปกรณ์ที่ช่วยพยุงข้อมือ

 

 

  • การแช่มือในน้ำอุ่น เป็นระยะเวลาประมาณ 15-30 นาที วันละ 1-2 ครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น

 

 

  • การฉีดยา แพทย์จะทำการฉีดสารสเตียรอยด์ที่ปลอกหุ้มเอ็น บริเวณที่เกิดอาการบวม เพื่อลดการอักเสบ และอาจมีการทำกายภาพเพื่อช่วยลดอาการเส้นเอ็นนิ้วโป้งอักเสบ

 

 

  • การผ่าตัด หากการรักษาข้างต้นไม่เป็นผล แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อลดการกดทับของเส้นเอ็นภายใน

 

 

การดูแลแผลหลังผ่าตัด

 

 

หากผู้ป่วยมีการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด อาจจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนในการดูแลบาดแผลเพิ่มขึ้นมา เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง และอันตรายขึ้น ดังนี้

 

 

  • ควรรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด และมาพบแพทย์ตามวันนัดหมาย

 

 

  • หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนเหงื่อ และน้ำ

 

 

  • ถ้าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้มือ ควรใช้งานในการดำเนินกิจวัตรเบา ๆ ได้ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ หรือเขียนหนังสือ เป็นต้น 

 

 

  • หากเกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติขึ้นบริเวณบาดแผล เช่น แผลส่งกลิ่นเหม็น, มีเลือดซึมตามผ้า, สกปรก หรือผ้าพันแผลหลุด ควรเข้าพบแพทย์ทันที

 

 

การป้องกันเอ็นข้อมืออักเสบ

 

 

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน โดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือหนัก ๆ หรือท่าเดิมแบบซ้ำ ๆ

 

 

  • หลีกเลี่ยงการหิ้ว หรือยกของหนัก หากต้องทำ ควรพักการใช้งานเป็นระยะ

 

 

ปรับท่าทางในการทำงาน

 

 

  • ปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงาน 

 

 

  • ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หรือเล่นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 

 

 

เอ็นข้อมืออักเสบ เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรา และสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย หากท่านมีอาการเจ็บปวด หรือสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคดังกล่าว อย่ารอช้าที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรักษาข้อมือที่รักเอาไว้ให้อยู่กับท่านตราบนานเท่านาน อย่าปล่อยอาการบานปลายจนไม่อาจรักษาได้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

 

โปรแกรมแก้ปัญหามือและข้อมือด้วยการผ่าตัด

 

ไลฟ์สไตล์กับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง

 

เป็นเกมเมอร์เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

 

ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตที่ชาวออฟฟิศต้องระวัง