5 ข้อความจริงของ “กาฬโรค” หลังจีนเตือนภัยการระบาด
5 ข้อความจริงของ “กาฬโรค” หลังจีนเตือนภัยการระบาด

กาฬโรค (Plague) เป็นโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เยอร์ซีเนีย เพสติส (Yersinia pestis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากสัตว์ เพราะเชื้อกาฬโรคเป็นเชื้อที่พบได้ในสัตว์ แต่จะไม่แสดงอาการในสัตว์ และจะสามารถแพร่มาสู่คนได้ เมื่อเกิดการระบาดแต่ละครั้งย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียมากมาย

 

กาฬโรคมาจากไหน

 

อย่างที่เราบอกไปแล้วว่ากาฬโรคเป็นโรคที่เกิดจากสัตว์ติดต่อมาสู่คน โดยสาเหตุการติดเชื้อมีดังนี้

  • ส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อจากการถูกหมัดหนู (Rodent Flea) ที่มีเชื้อกัด หรือได้รับเชื้อในสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู แมว กระรอก กระจง กระต่าย เป็นต้น
  • สัตว์กินเนื้อยังสามารถติดเชื้อได้เนื่องจากกินสัตว์ฟันแทะที่ติดเชื้ออยู่แล้วนั่นเอง
  • คนสามารถได้รับเชื้อจากการถูกหมัดหนูกัดมากที่สุด และรับเชื้อจากการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น ผู้ที่มีอาชีพล่าสัตว์ เมื่อไปสัมผัสอวัยวะภายในของสัตว์ที่ล่าจะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

 

ความรุนแรงของกาฬโรค

 

กาฬโรคเป็นโรคที่เคยระบาดมาแล้วหลายครั้งในอดีต ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2263 กาฬโรคกลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่ในยุโรป ซึ่งมีคนเสียชีวิตมากถึง 100,000 คนในเมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส และการระบาดของโรคนี้ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2398 ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลกทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 12 ล้านคน

 

และในประเทศไทยพบการระบาดของกาฬโรคในสมัยอยุธยา ซึ่งมีผู้คนล้มป่วย และเสียชีวิตจำนวนมากจนได้รับฉายาว่าเป็น “ความตายสีดำ” ซึ่งคนในยุคนั้นจะเรียกโรคนี้ว่า “โรคห่า” เพราะเป็นโรคที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้

 

อาการของกาฬโรคสังเกตได้อย่างไรบ้าง

 

อาการของกาฬโรคจะแสดงออกมาและสังเกตได้จากชนิดของโรคซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่

 

  • กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (bubonic) พบได้มากที่สุดสาเหตุมักเกิดจากการถูกหมัดกัด ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ไข้ขึ้น บวมและปวดบริเวณต่อมน้ำเหลืองจนเกิดอาการอักเสบจนไม่สามารถขยับแขน และขาได้ มักพบบริเวณขาหนีบ หรือรักแร้
  • กาฬโรคโลหิตเป็นพิษ (septicemic) สามารถเกิดขึ้นหลังเป็นกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง และอาการจะรุนแรงขึ้น ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ เลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ และสามารถเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือ 3 ถึง 5 วัน
  • กาฬโรคปอด (pneumonic) มีโอกาสพบเจอได้น้อยที่สุดในขณะที่มีความอันตรายมากที่สุดเช่นกัน เกิดได้หลังการติดเชื้อที่กระแสเลือดไปแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อได้จากผู้ที่มีเชื้ออยู่แล้วผ่านการไอ จาม ผู้ป่วยในกาฬโรคชนิดนี้จะมีอาการไข้ ปวดบวม ไอมีเสมหะเป็นน้ำต่อไปจะเป็นเลือด หากไม่รับการรักษาสามารถเสียชีวิตได้ภายในเวลา 3 วัน

 

กาฬโรค

 


โอกาสที่จะกลับมาระบาดอีกครั้ง

 

ปัจจุบันมีการพบผู้ป่วยกาฬโรคในมองโกเลีย แต่โรคดังกล่าวเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่เหมือน COVID-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสและไม่มียารักษา แต่เชื้อกาฬโรคสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ หากมีการพบการติดเชื้อตั้งเนิ่น ๆ จึงช่วยให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้นั่นเอง

 

กาฬโรครักษาได้หรือไม่

 

การรักษาต้องเริ่มจากการแยกตัวผู้ป่วยออกจากผู้อื่นในพื้นที่เฉพาะ และรอให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มารับตัวไปรักษาโดยขั้นตอนการรักษาจะพึ่งยาปฏิชีวนะ เช่น คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) หรือ ยาซัลฟาไดอาชิน (sunfadiacin) เป็นต้น ซึ่งทุกขั้นตอนต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังจากทีมแพทย์ด้วย

 

ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่มีความรุนแรงแต่ในปัจจุบันเองก็ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้สำหรับการป้องกัน แต่เราสามารถป้องกันได้ในทางอ้อม เช่น

  • ดูแลสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้สะอาด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขยะ หรือเป็นที่อยู่อาศัยของหนู
  • ไม่ออกไปยังพื้นที่สกปรกที่มีขยะมูลฝอยเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ดูแลสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน และใช้ยาฆ่าหมัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงไม่ปล่อยสัตว์ออกไปสู่ภายนอก

 

กาฬโรคเป็นโรคระบาดที่มีความรุนแรง และต้องพึ่งวินัยเพื่อที่จะควบคุมการระบาด ดังนั้นการเตรียมการป้องกันตนเองเท่าที่จะทำได้อย่างเคร่งครัดที่สุดจะมีส่วนช่วยให้เรารอดพ้นจากการติดเชื้อได้ไม่มากก็น้อยในอนาคต