“กินเยอะกินน้อย” สัญญาณของปัญหาสุขภาพ
“กินเยอะกินน้อย” สัญญาณของปัญหาสุขภาพ

การกินอาหารในชีวิตประจำวันของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนกินน้อยบางคนกินมากโดยอาจไม่รู้มาก่อนว่าอาการที่เป็นอยู่อาจบ่งบอกความผิดปกติในร่างกาย เช่น การกินเยอะจากฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง หรือการกินน้อยจากการเสพติดการลดน้ำหนัก และการล้วงคอหลังทานอาหาร เป็นต้น ซึ่งวิธีการรักษาอาการเหล่านี้จะแตกต่างกันตามลักษณะพฤติกรรมการกิน

 

กินเยอะเกิดจากอะไรได้บ้าง

 

พฤติกรรมกินอาหารเยอะไม่ใช่เพียงเพราะนิสัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะการกินเยอะยังเป็นสัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายด้วยทั้งสภาวะของฮอร์โมนในร่างกายที่เกิดความผิดปกติ  จากโรคร้าย และจากการเป็นประจำเดือนในผู้หญิง ได้แก่

 

  • กินเยอะจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน : พฤติกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่างอาจส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายไม่เหมือนเดิม เช่น การพักผ่อนน้อยอดนอนทำให้ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ควบคุมความอยากกินอาหารเพิ่มเยอะขึ้น หรือความเครียดทำให้ฮอร์โมนควบคุมความหิวเซโรโทนิน (Serotonin) ลดน้อยลง ไปจนถึงการอดอาหารหรือทิ้งช่วงการทานอาหารนานจนเกินไปสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความอยากอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

  • กินเยอะจากโรคร้ายหรือภาวะความผิดปกติ : เช่น โรคเบาหวานที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลในเลือดได้ทำให้ร่างกายต้องการพลังงานส่งผลให้เกิดความหิว หรือจากการที่น้ำตาลในเลือดต่ำเกิดได้จากโรคร้ายหลายโรค เช่น โรคเบาหวาน ตับอักเสบ นอกจากอาการหิวบ่อยกินเยอะแล้วยังมีอาการอื่นที่บ่งบอกว่าเป็นภาวะนี้ด้วย เช่น วิตกกังวล หน้ามืด หัวใจเต้นเร็ว และพูดไม่ชัด เป็นต้น และต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ส่งผลให้เกิดความอยากอาหารกว่าปกติร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย เหงื่อออกง่าย และคอบวม เป็นต้น
     
  • กินเยอะเพราะจะมีประจำเดือน : จัดอยู่ในกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS) นอกจากจะมีอาการอยากอาหารยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องอืด เหนื่อยง่าย หรือหงุดหงิดอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น ในคุณผู้หญิงอาจรู้สึกว่าไม่ใช่อาการที่ผิดปกติแต่หากมีอาการรุนแรงและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันให้พบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา

 

เมื่อกินอาหารเยอะควรแก้อย่างไร

 

  • พยายามควบคุมตนเองและถามตนเองว่าเราอยากกินอาหารจากความหิวจริง ๆ หรือเป็นเพียงความอยากเท่านั้น
  • ไม่กักตุนอาหารไว้ใกล้ตัวหากรู้ว่าตนเองมีพฤติกรรมหิวบ่อยจากสาเหตุข้างต้นเพื่อลดโอกาสเกิดความอยากอาหาร
  • วางแผนการทานอาหารและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ละมื้อไม่ทานเยอะจนเกินไป
  • หากิจกรรมอื่นทำเช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อลดความเครียด

 

โรคจากการกิน

 

ถึงกินน้อยก็บอกปัญหาสุขภาพได้

 

อาการกินน้อยกินมากนอกจากจะเป็นปัจจัยพฤติกรรมในชีวิตประจำวันแล้วยังอาจเป็นสัญญาณของกลุ่ม “โรคการกินผิดปกติ (ED)” ซึ่งนอกจากจะมีโรคปัญหาการกินเยอะอย่าง “โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder)” ยังมีกลุ่มโรคกินน้อยด้วย ได้แก่

 

  • กินน้อยจนผอม (anorexia nervosa) : ผู้ป่วยจะมีความต้องการลดน้ำหนักอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่สนต่อความเป็นจริงว่าตนจะผอมหรือไม่ ถึงแม้จะผอมแล้วก็จะลดต่อไป ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมลดน้ำหนักที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โหมออกกำลังกาย หรือใช้ยาช่วย เป็นต้น
  • กินอาหารแล้วไปล้วงคอ (bulimia nervosa) : มักพบมากในเพศหญิงโดยจะทานอาหารค่อนข้างมากก่อนจะล้วงคอเพื่อป้องกันน้ำหนักเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอดอาหาร หรือใช้ยาลดน้ำหนัก เป็นต้น

 

ทำอย่างไรเมื่อกินน้อยเกินไป

 

ส่วนมากกลุ่มโรคกินน้อยไม่ว่าจะเป็นกินน้อยจนผอม (anorexia nervosa) หรือกินอาหารแล้วไปล้วงคอ (bulimia nervosa)  ต้องรักษาด้วยจิตบำบัดทั้งความคิดและพฤติกรรม ดังนั้นเมื่อเป็นโรคในกลุ่มนี้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับแนวทางในการบำบัดอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากครอบครัวในการบำบัดด้วย

 

นอกจากนี้พฤติกรรมการทานอาหารของคนทั่วไปอาจกินมากกินน้อยแตกต่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงโรคร้ายอื่น ๆ ที่จะตามมาควรทานอาหารให้ตรงเวลาครบ 5 หมู่เป็นประจำ และหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ