ภาวะขาดโกรทฮอร์โมน หรือ ภาวะพร่องโกรทฮอร์โมน คือ ภาวะที่มีความผิดปกติทางด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยเฉพาะวัยเด็ก ที่มักจะตัวเล็กกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่ไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านสมอง
โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) คือ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต ที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง ส่งเข้าสู่กระแสเลือด โกรทฮอร์โมน เสริมสร้างความสูง และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังช่วยในการทำงานของสมอง ควบคุมปริมาณไขมันซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และกระดูก
ภาวะการขาดโกรทฮอร์โมน
ภาวะขาดโกรทฮอร์โมน หรือ ภาวะพร่องโกรทฮอร์โมน เกิดจาก ความผิดปกติของต่อมใต้สมองตั้งแต่กำเนิด เช่น ต่อมใต้สมองเล็ก ต่อมใต้สมองผิดรูป หรือ การมีเนื้องอกที่มากดที่ต่อมใต้สมอง ซึ่งอาจจะเกิดจาก อุบัติเหตุ หรือได้รับการผ่าตัด
ความผิดปกติของต่อมใต้สมองตั้งแต่กำเนิด และการมีเนื้องอกที่มากดที่ต่อมใต้สมอง ส่งผลให้การหลั่งโกรทฮอร์โมนผิดปกติ
สามารถรักษาภาวะขาดโกรทฮอร์โมน โดยการฉีดโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ โซมาโทรพิน Somatropin โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังทุกวันบริเวณท้อง ต้นแขน สะโพกส่วนก้น และต้นขา ควรเปลี่ยนบริเวณที่ฉีดในแต่ละครั้งเพื่อป้องกันการฝ่อของเนื้อเยื่อไขมันในตรงที่ฉีด ทั้งนี้เมื่อฉีดแล้วต้องติดตามการรักษา ดูการเจริญเติบโตของกระดูก และดูน้ำตาลในเลือด
การรักษาภาวะขาดโกรทฮอร์โมน หรือ ภาวะพร่องโกรทฮอร์โมน ให้ได้ผลดีที่สุดต้องรักษาตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าเข้าสู่วัยรุ่นไปแล้วกระดูกอายุมากขึ้น การรักษาไม่ได้ผล ดังเช่นนักฟุตบอลระดับโลกอย่าง ลีโอเนล เมสซี่ ในวัยเด็ก เขาก็ประสบกับภาวะขาดโกรทฮอร์โมน แต่ด้วยการรักษาที่ถูกวิธี ทำให้เขามีร่างกายที่สมบูรณ์ ประสบความสำเร็จในอาชีพด้านกีฬาเช่นกัน