ปวดศีรษะแบบไหนเป็นโรคใดได้บ้าง
ปวดศีรษะแบบไหนเป็นโรคใดได้บ้าง

ความทุกข์เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก ไม่มีใครไม่เคยทุกข์ เมื่อเรารู้สึกเครียดเพราะเกิดความทุกข์ หรือมีเรื่องไม่สบายใจ สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ สภาพร่างกายที่ทำงานเปลี่ยนแปลงไป อาการที่มักจะตามมาต่อจากความเครียด และเป็นอาการที่ทุกคนต้องเคยเป็น นั่นคือ อาการปวดศีรษะ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจนอาจนำไปสู่การขาดเรียน หรือขาดงานได้

 

ปวดศีรษะบอกอะไรบ้าง

 

  • ปวดศีรษะข้างเดียว หากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวนั่นคืออาการของโรคไมเกรน อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งสลับกันไป โรคนี้มักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น อาการปวดมักจะเกิดขึ้นเป็นชั่วโมง หรืออาจปวดนานหลายวัน
     
  • ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ คือ อาการปวดรุนแรงบริเวณรอบดวงตา ลามไปจนขมับด้านใดด้านหนึ่ง มักจะปวดตุบ ๆ เป็นชุด ๆ ในเวลาที่แน่นอน เช่น มักปวดในช่วงเดือนนี้ของทุกปี โดยการปวดจะกินเวลานานหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน อาการนี้มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
     
  • ปวดศีรษะทั้งสองข้าง เป็นการปวดศีรษะจากความเครียดเป็นครั้งคราว มักเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไป และอาจนานจนกินเวลาเป็นวันได้ ซึ่งมักพบร่วมกับการปวดไมเกรน หากมีอาการเกิดขึ้นน้อยกว่าครึ่งเดือนจะจัดว่าเป็นการปวดศีรษะจากความเครียดเป็นครั้งคราว แต่ถ้าหากมีอาการปวดมากกว่า 1-3 เดือนจะถือว่าเป็นการปวดศีรษะจากความเครียดแบบเรื้อรัง
     
  • ปวดศีรษะจากไซนัสทั้งสองข้าง มักมีอาการปวดบริเวณหน้าผาก สันจมูก รวมถึงโหนกแก้ม โดยอาการปวดจะรุนแรงขึ้นเมื่อผู้ป่วยก้มตัว หรือก้มศีรษะลง และมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล มีไข้ หรือใบหน้าบวม เป็นต้น
     
  • ปวดศีรษะจากเนื้องอกในสมอง จะมีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ และจะทวีความรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืนจนผู้ป่วยต้องตื่นขึ้นมากลางดึก โรคนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากเพราะอาการจะกำเริบตอนเคลื่อนไหวร่างกาย และมักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ทรงตัวลำบาก สายตาพร่ามัว ไม่มีสมาธิ เป็นต้น

 

ปวดหัว

 

สาเหตุของการปวดศีรษะ

  

อาการปวดศีรษะมีสาเหตุมาจาก 3 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้
 

  • อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ เป็นกลุ่มที่พบบ่อยในกลุ่มอาการปวดศีรษะจากไมเกรน อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ เกิดจากระบบรับความรู้สึกในประสาทและสมองเกิดการทำงานผิดปกติ โดยอาการอาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน
     
  • อาการปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณศีรษะและคอ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง หลอดเลือดอุดตันในสมอง และอาจเกิดจากอวัยวะบริเวณรอบ ๆ สมองได้อีกด้วย เช่น ไซนัสอักเสบ เป็นต้น
     
  • อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่น ๆ เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาท เมื่อเกิดการอักเสบจะมีผลต่อใบหน้าทำให้เกิดอาการปวดบริเวณใบหน้าอย่างรุนแรง

 

การรักษาโรคปวดศีรษะ

 

  • การรับประทานยา แพทย์จะพิจารณาตามอาการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะที่เกิดจากไมเกรนแพทย์จะให้รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวด หากผู้ป่วยมีอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์จะมีการจ่ายยาระงับอาการทางจิต และยาต้านชักร่วมด้วย
     
  • การบำบัด วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว เพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ เช่น การนั่งสมาธิ การนวดบำบัด เป็นต้น

 

การป้องกันตนเองจากโรคปวดศีรษะ

 

อาการปวดศีรษะมักมีเหตุมาจากความเครียด เมื่อเราเครียดจะทำให้นอนไม่หลับ และเกิดการพักผ่อนไม่เพียงพอ การป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดคือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไปเครียดจนเกินไป หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด เช่น การอดอาหาร การอดนอน เป็นต้น

 

ปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อยเพราะสามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย การดูแลเพียงสุขภาพกายจึงไม่เพียงพอ เพราะเราต้องหันมาดูแลสุขภาพจิตของตัวเราเองให้แจ่มใส ลดความเครียดลง เพื่อไม่ให้โรคปวดศีรษะถามหาได้



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

โปรแกรมคัดกรองโรคทางสมอง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI