เหนื่อย หายใจหอบ เท้าบวม สัญญาณเตือนภาวะหัวใจล้มเหลว
เหนื่อย หายใจหอบ เท้าบวม สัญญาณเตือนภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวาย (Heart Failure) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือขาดความยืดหยุ่นส่งผลให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ จึงทำให้อวัยวะขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง และหัวใจจะไม่สามารถรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ด้วย

 

สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว

 

ภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะเกิดในระยะสุดท้ายของโรคหัวใจ ทั้งเป็นโรคแทรกซ้อนจากโรคอื่น โดยภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
 

  • โรคความดันโลหิตสูง
     
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
     
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเต็มที่
     
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่อาจเกิดจากแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
     
  • ความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด
     
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น
     

นอกจากนี้ภาวะหัวใจล้มเหลวยังมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
 

  • รับประทานยาที่ทำให้เกิดการกดการทำงานของหัวใจ
     
  • รับประทานอาหารเค็มในปริมาณมากเกินไป
     
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ
     
  • ขาดการออกกำลังกาย และพักผ่อนไม่เพียงพอ

 

ชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว

 

  • หัวใจห้องขวาล้มเหลว (Right-sided heart failure) หัวใจจะไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปยังปอดเพื่อฟอกเลือดจึงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการบวมที่เท้า
     
  • หัวใจห้องซ้ายล้มเหลว (Left-sided heart failure) หัวใจจะไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ จึงเกิดเลือดคั่งที่ปอดกลายเป็นน้ำท่วมปอด และมีอาการบวมที่เท้า

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

 

  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน
     
  • มีพฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นประจำ
     
  • ขาดการออกกำลังกาย และพักผ่อนไม่เพียงพอ
     
  • มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น

 

อาการของภาวะหัวใจล้มเหลว

 

  • หายใจเหนื่อย อาจมีอาการเหนื่อยในขณะที่กำลังออกแรง หายใจไม่สะดวกในขณะนอนราบ หรือต้องตื่นกลางดึกเพราะมีอาการหายใจไม่สะดวก ซึ่งเกิดจากน้ำท่วมปอด
     
  • เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เมื่อเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง ทำให้ร่างกายมีกำลังลดลง
     
  • บวม เกิดจากภาวะคั่งของน้ำ และเกลือ กดแล้วบุ๋ม หรือมีน้ำคั่งอวัยวะภายใน เช่น ตับโต ม้ามโต และท้องบวม

 

หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

 

ภาวะหัวใจล้มเหลวกับภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

 

หลายคนอาจจะคิดว่าโรคทั้งสองนี้เป็นโรคเดียวกัน แต่ภาวะหัวใจล้มเหลวกับภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้นแตกต่างกัน โดยภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะเรื้อรัง เกิดจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้เพียงพอ แต่ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) เกิดจากหลอดเลือดแดงอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนตาย และเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

 

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

 

  • การใช้ยา เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และชะลอการเสื่อมของหัวใจ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาขยายหลอดเลือด เป็นต้น
     
  • การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพื่อลดภาระการบีบตัวของหัวใจ และเป็นการเพิ่มอัตราการบีบตัวของหัวใจให้เพิ่มขึ้น
     
  • การผ่าตัด จะใช้ในกรณีเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ หรือผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในกรณีที่หัวใจถูกทำลายจนไม่สามารถกลับมาทำงานเป็นปกติได้
     
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เนื่องจากภาวะนี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดการบริโภคอาหารที่มีปริมาณโซเดียมมาก

 

ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดอาการหัวใจล้มเหลว

 

  • หากมีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ให้ผู้ป่วยนอนยกหัวสูง หรือนั่ง หากมีอาการเจ็บหน้าอกให้ผู้ป่วยอมยาอมไว้ใต้ลิ้น
     
  • หากหมดสติ หรือไม่รู้สึกตัว ให้นอนหงาย หรือให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก งดป้อนยา หรืออาหาร ควรให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

 

การดูแลตนเองสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว

 

  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียม เช่น เครื่องปรุงรสต่าง ๆ หรืออาหารที่มีการปรุงรส เช่น ไส้กรอก อาหารกึ่งสำเร็จรูป ของหมักดอง เป็นต้น และควรบริโภคเกลือแกงไม่เกินวันละประมาณ 1 ช้อนชา
     
  • หากมีอาการน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ตัวบวม เหนื่อยหอบตอนกลางคืนต้องแจ้งแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
     
  • งดสูบบุหรี่และงดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
     
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินบนทางราบประมาณวันละ 5 นาที หากมีอาการเหนื่อยหอบมากกว่าปกติควรงดออกกำลังกาย
     
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หากมีอาการหอบเหนื่อย
     
  • หากิจกรรมทำเพื่อลดความเครียด เช่น การทำสมาธิ การอ่านหนังสือ เป็นต้น
     
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ต้องใช้ระยะเวลานาน และหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยสารเครื่องบิน
     
  • หมั่นตรวจสุขภาพ และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

 

ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดแค่ในเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น คนที่มีอายุน้อยสามารถเป็นได้ด้วย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าวเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สามารถอยู่กับคนที่เรารักได้นานที่สุด