ไส้เลื่อนกระบังลม
ตรวจอาการไส้เลื่อนกระบังลมและการรักษา

ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal Hernia) เกิดได้จากความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณกระบังลมส่งผลให้อวัยวะอื่น ๆ สามารถเคลื่อนผ่านกระบังลมไปยังช่องอกหรือส่วนอื่นได้ อาการของผู้ป่วยไส้เลื่อนกระบังลมสังเกตได้จากหลายอาการโดยเฉพาะอาการกรดไหลย้อน หากพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

 

อาการไส้เลื่อนกระบังลม

 

อาการของโรคจะไม่มีอาการที่สังเกตได้อย่างชัดเจน แต่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดไส้เลื่อนกระบังลม ได้แก่

  • มีอาการแสบร้อนทรวงอก
  • เจ็บหน้าอก หายใจถี่
  • เกิดอาการกรดไหลย้อน เรอกลิ่นเปรี้ยว
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เจ็บคอกลืนลำบาก
  • ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

อาการจากที่กล่าวมาอาจเป็นสัญญาณของไส้เลื่อนกระบังลมเท่านั้น หากต้องการทราบผลที่แน่ชัดควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างละเอียดเป็นวิธีที่ดีที่สุด

 

อาการไส้เลื่อนกระบังลมรุนแรงแค่ไหนควรพบแพทย์

 

หากผู้ป่วยเป็นโรคนี้ในระดับเพียงเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาก็ได้ แต่หากมีอาการที่รุนแรงเกิดขึ้นต้องรีบเข้าพบแพทย์ทันที ได้แก่

  • มีอาการเจ็บหน้าอกมากกว่าปกติ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องอืด

อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าทางเดินอาหารของผู้ป่วยไส้เลื่อนกระบังลมเกิดการบิดตัวหรืออุดตัน ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดบริเวณช่องท้องมีปัญหาหรือเลือดไม่เดิน

 

สาเหตุไส้เลื่อนกระบังลม

 

กระบังลมเป็นอวัยวะสำคัญที่มีส่วนช่วยในระบบหายใจ สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคไส้เลื่อนกระบังลมยังไม่ชัดเจน แต่ยังมีพฤติกรรมหรือปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่

  • อวัยวะที่เริ่มเสื่อมสภาพไปตามวัย ทำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์สามารถทำให้เสี่ยงไส้เลื่อนกระบังลม
  • เกิดความผิดปกติกับกระบังลมทั้งการเกิดอุบัติเหตุ และจากโรคต่าง ๆ
  • มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
  • การเบ่งอย่างรุนแรงขณะทำการขับถ่าย

เมื่อเกิดความเสี่ยงจะทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมเกิดความอ่อนแอลง ส่งผลให้อวัยวะส่วนอื่น ๆ สามารถเคลื่อนตัวผ่านช่องว่างที่เกิดขึ้นกลายเป็นไส้เลื่อนกระบังลมในที่สุด

 

ไส้เลื่อนกระบังลมมีกี่ชนิด

 

โรคนี้มีอยู่ 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

  • ไส้เลื่อนกระบังลมขึ้นลง (Sliding Hiatal Hernia) พบได้เยอะที่สุดอวัยวะอื่นจะสามารถเคลื่อนขึ้นลงออกจากพื้นที่อกผ่านกระบังลมไปยังตำแหน่งอื่นได้
  • ไส้เลื่อนกระบังลมด้านข้าง (Paraesophageal Hiatal Hernia) อวัยวะส่วนอื่นจะเคลื่อนผ่านกระบังลมไปด้านข้างและติดอยู่บริเวณข้างหลอดอาหาร

 

ไส้เลื่อนกระบังลมในทารกแรกเกิด

 

เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดกระบังลมจึงมีรูโหว่ ทำให้อวัยวะส่วนอื่นบริเวณช่องท้องสามารถเคลื่อนมาสู่ช่องอกได้ ส่งผลโดยตรงต่อปอดและหัวใจของเด็ก หากทารกเป็นโรคไส้เลื่อนกระบังลมจะมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจึงต้องทำการวินิจฉัยดูแลตั้งแต่ในระยะก่อนคลอดเพื่อเพิ่มความปลอดภัย

 

การวินิจฉัยไส้เลื่อนกระบังลม

 

หากผู้ป่วยมีอาการที่แสดงความเสี่ยงแพทย์จะทำการซักถามประวัติอาการร่วมกับการตรวจวินิจฉัยซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • ส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อตรวจดูลักษณะของหลอดอาหารรวมไปถึงช่องท้องส่วนบน
  • เอกซเรย์ช่องท้องส่วนบน ตรวจดูระบบย่อยอาหารส่วนบน และตำแหน่งของกระเพาะอาหาร
  • ตรวจวัดการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร เพื่อดูการทำงาน และความผิดปกติของหลอดอาหาร

 

ไส้เลื่อนกระบังลม อาการ

 

การรักษาไส้เลื่อนกระบังลม

 

โรคนี้สามารถรักษาได้หลายวิธีหากอาการไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่สามารถรักษาผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร เลี่ยงบุหรี่และแอลกอฮอล์ ไม่นอนทันทีหลังทานอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา เช่น ยาที่สามารถลดกรดในกระเพาะอาหาร หรือยาที่ลดการหลั่งกรดทางเดินอาหาร เป็นต้น

 

ผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนกระบังลม

 

กรณีเกิดอาการระดับรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านการผ่าตัดผ่านกล้อง มีจุดประสงค์เพื่อทำให้อวัยวะที่เกิดการเคลื่อนตัวกลับสู่ตำแหน่งเดิม การผ่าตัดวิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยไส้เลื่อนกระบังลมพักฟื้นได้ไวและเกิดแผลที่เล็กกว่าการผ่าตัดทั่วไป

 

การทานอาหารของผู้ป่วยไส้เลื่อนกระบังลม

 

เนื่องด้วยอาการกรดไหลย้อนเป็นส่วนสำคัญสำหรับโรคไส้เลื่อนกระบังลม และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทานอาหารโดยตรง ผู้ป่วยที่กำลังทำการรักษาจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร ดังนี้

  • ทานอาหารให้น้อยลงในแต่ละมื้อ ให้เปลี่ยนเป็นแบ่งทานหลายมื้อแทน
  • พยายามเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
  • เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่กระตุ้นกรดไหลย้อน เช่น ช็อกโกแลต หรือเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ เป็นต้น
  • เลี่ยงเครื่องดื่มที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น แอลกอฮอล์ กาแฟ
  • ไม่ควรนอนทันทีหลังการทานอาหาร สามารถเริ่มนอนได้หลังทานไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง

 

การป้องกันไส้เลื่อนกระบังลม

 

เนื่องจากสาเหตุของการเกิดที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถป้องกันโรคได้โดยตรงทำได้เพียงลดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงไส้เลื่อนกระบังลมทั้งการหลีกเลี่ยงเสื้อผ้ารัดรูป ไม่นอนทันทีหลังทานข้าว พยายามไม่ใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องมากจนเกินไป ควบคุมน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน งดการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

 

ไส้เลื่อนกระบังลมถึงแม้จะรักษาได้หลายวิธี แต่ด้วยอาการของโรคที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันเราจึงควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง และแบบเปิดหน้าท้อง