รวมมิตรโรคเกี่ยวกับลำไส้ที่ควรรู้
รวมมิตรโรคเกี่ยวกับลำไส้ที่ควรรู้

ลำไส้ ถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญ เพราะไม่ได้เป็นเพียงอวัยวะที่ทำหน้าที่สำหรับย่อยอาหารเพียงเท่านั้น แต่อวัยวะนี้ยังมีเซลล์ประสาทที่ซับซ้อนจนถูกขนานนามว่าเป็น “สมองที่ 2” เมื่ออวัยวะนี้เกิดความผิดปกติย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย และยังมีความเกี่ยวข้องกับอาการผิดปกติทางจิตใจด้วย เพราะการมีความเครียดจะทำให้ลำไส้ลดการผลิตสารเซโรโทนินลง หากมีสารเซโรโทนินในกระแสเลือดต่ำจะส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย

 

สัญญาณเตือนโรคลำไส้
 

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ หากมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยครั้ง หรือมากกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ ควรเข้าพบแพทย์ เพราะลำไส้อาจมีปัญหาทำให้เกิดการย่อยอาหารที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ
     
  • ท้องผูก หากเกิดอาการท้องผูกบ่อยครั้ง และอาจเสี่ยงเป็นโรคริดสีดวงทวารได้ด้วย
     
  • ร่างกายไม่แข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันส่วนใหญ่อยู่ในระบบลำไส้ หากลำไส้ขาดความสมดุลอาจส่งผลให้ร่างกายของเรามีภูมิคุ้มกันต่ำลงไปด้วย
     
  • เซื่องซึม อาการเหล่านี้มักเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือทำงานหนัก หากไม่ได้เกิดจากสาเหตุดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณว่าลำไส้กำลังเกิดการทำงานที่ผิดปกติ
     
  • ปวดท้องเฉียบพลัน หากมีอาการปวดท้องอย่างไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจากการทำงานของลำไส้ที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน หรืออาจมีแก๊สอยู่ในท้องมากเกินไป

 

โรคลำไส้แปรปรวน (IBS : Irritable Bowel Syndrome)

 

เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของลำไส้ที่ผิดปกติทำให้เกิดอาการปวดท้องร่วมกับมีปัญหาด้านการขับถ่าย โดยมีสาเหตุจากหลายประการ ดังนี้
 

  • ลำไส้บีบตัวผิดปกติ เกิดจากการหลั่งสาร หรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกตินำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก
     
  • ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าไวผิดปกติ คนปกติลำไส้จะมีการบีบตัวหลังรับประทานอาหาร แต่ผู้ป่วยโรคนี้จะมีการบีบตัว และการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้นผิดปกติ ทำให้เกิดการดูดซึมน้ำ และสารอาหารไม่ทันจนเกิดอาการท้องเสีย หรือท้องผูกได้
     
  • ประสาทรับความรู้สึก กล้ามเนื้อของลำไส้ และสมอง (Brain – Gut Axis) เกิดความผิดปกติ หรือเกิดการทำงานไม่สัมพันธ์กัน

 

อาการของลำไส้แปรปรวน

 

  • แน่นท้อง มีลม หรือแก๊สในท้องมาก
     
  • หลังรับประทานอาหารจะปวดท้องมาก และอาการดีขึ้นหลังได้ขับถ่าย
     
  • ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระมีเมือกใส หรือมีสีขาวปนออกมา
     
  • กลั้นปัสสาวะ และอุจจาระไม่อยู่
     

หากมีอาการอุจจาระเป็นเลือด ท้องบวม น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ หมดแรง หายใจถี่ หัวใจเต้นแรงควรรีบพบแพทย์

 

การรักษาโรคลำไส้แปรปรวน

 

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น กล้วย แครอท เป็นต้น ดื่มน้ำในปริมาณมาก และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ถั่ว นมจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี อาหารแปรรูป เป็นต้น เพื่อลดการเกิดแก๊สในท้อง และบรรเทาอาการท้องอืด
     
  • การใช้ยา เช่น ยาแก้ปวดท้อง ยาระบาย ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เป็นต้น

 

โรคลำไส้อุดตัน (Intestinal Obstruction)

 

เป็นภาวะที่ลำไส้มีสิ่งอุดตัน หรือลำไส้มีการบีบตัวผิดปกติ ทำให้อาหารไม่สามารถเคลื่อนผ่านได้ตามปกติจนเกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุดังนี้
 

  • ภาวะลำไส้ตีบตัน (Mechanical Obstructions) เกิดจากมีบางสิ่งไปอุดตันทางเดินของลำไส้
     
  • ภาวะลำไส้อืด (Nonmechanical Obstructions) ลำไส้เกิดการทำงานผิดปกติทำให้ไม่สามารถบีบตัว และเคลื่อนไหวได้

 

อาการของลำไส้อุดตัน

 

ลำไส้อุดตันจะแสดงอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลำไส้ที่อุดตัน ดังนี้
 

  • การอุดตันที่ลำไส้เล็ก จะมีอาการปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้สะดือ ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สามารถผายลมได้ เป็นต้น
     
  • การอุดตันที่ลำไส้ใหญ่ จะมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดท้อง ท้องผูก เลือดออกทางทวารหนัก เป็นต้น

 

การรักษาโรคลำไส้อุดตัน

 

  • การรักษาภาวะลำไส้อืด แพทย์อาจให้อาหารทางสายยาง ร่วมกับการใช้ยาช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ หากอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดลำไส้
     
  • การรักษาลำไส้อุดตันบางส่วน แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารเหลว และอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น เนื้อแดงปรุงสุก ปลา ไข่ ผักกาดหอม กล้วยสุก เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย
     
  • การรักษาลำไส้อุดตันทั้งหมด แพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำสิ่งอุดตันออกจากลำไส้ หรือผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เสียหายออก หรือใส่ขดลวดขยายลำไส้ระหว่างรอการผ่าตัด

 

โรคลำไส้รั่ว (Microvilli)

 

ภาวะที่เยื่อบุผนังลำไส้เกิดการทำงานผิดปกติทำให้สารพิษ หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ สามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานหนักขึ้นเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย โดยโรคนี้จะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
 

  • ความเครียด
     
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
     
  • การรับประทานอาหารประเภทนม และน้ำตาลมากเกินไป
     
  • การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 

อาการของโรคลำไส้รั่ว

 

  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
     
  • อ่อนเพลียง่าย
     
  • ปวดตามข้อ และกระดูก
     
  • เกิดผื่นลมพิษ หรือภูมิแพ้
     

 

การรักษาโรคลำไส้รั่ว

 

  • งดแป้ง และน้ำตาลขัดขาว รับประทานผัก และผลไม้มากขึ้น
     
  • ดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน
     
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
     
  • ลดความเครียด
     
  • รับประทานจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้

 

โรคมะเร็งลำไส้ (Colorectal cancer)

 

เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวภายในลำไส้ใหญ่เกิดความผิดปกติ โดยเซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเนื้องอก ซึ่งในระยะแรกอาจเป็นเพียงแค่เนื้องอกธรรมดา แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เนื้องอกอาจกลายเป็นมะเร็งได้

 

อาการของโรคมะเร็งลำไส้

 

โรคนี้อาจไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยจึงอาจไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือบางรายอาจแสดงอาการที่คล้ายกับอาการของโรคอื่น ไม่ว่าอย่างไรควรรีบเข้าพบแพทย์เมื่อมีอาการ ดังนี้
 

  • ท้องเสีย ท้องผูก อาหารไม่ย่อย
     
  • อุจจาระปนเลือด
     
  • อุจจาระมีลักษณะเล็กลีบ
     
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
     
  • มีอาการอ่อนเพลีย
     
  • โลหิตจาง

 

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้

 

  • การผ่าตัด เพื่อตัดลำไส้ในส่วนที่เป็นมะเร็งออก รวมถึงส่วนของเนื้อบริเวณโดยรอบของก้อนเนื้อ จากนั้นจะเย็บเชื่อมต่อลำไส้
     
  • ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง และหยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง โดยจะฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือกล้ามเนื้อ เพื่อควบคุมไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย
     
  • รังสีรักษา (Radiation therapy) เป็นการฉายคลื่นที่มีพลังงานสูง เพื่อทำลาย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

 

โรคลำไส้

 

การวินิจฉัยโรคลำไส้

 

แพทย์จะซักถามประวัติ และอาการของผู้ป่วยเบื้องต้นว่ามีอาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคลำไส้หรือไม่ หากผู้ป่วยมีปัญหาในการขับถ่าย หรือมีประวัติใช้ยาความดันโลหิตสูง ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร รวมถึงเคยมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้แพทย์จะวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธี ดังนี้
 

  • การส่องกล้องช่องท้องส่วนบน (Upper Endoscopy) เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น
     
  • การส่องกล้องช่องท้องส่วนล่าง (Flexible Sigmoidoscopy) เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่อาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้อุดตัน หรือลำไส้อักเสบ
     
  • การตรวจเลือด เพื่อหาภาวะโลหิตจาง และการติดเชื้อ
     
  • การตรวจอุจจาระ เพื่อตรวจหาเลือดที่ปนมาในอุจจาระ และตรวจหาการติดเชื้อในทางเดินอาหาร
     
  • การเอกซเรย์ (X-Rays) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของกระเปาะเนื้อ หรือติ่งเนื้อในลำไส้

 

ดูแลลำไส้อย่างไรให้ห่างไกลโรค

 

  • รับประทานอาหารที่หลากหลาย หรือรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะจะช่วยทำให้กลุ่มจุลินทรีย์ในลำไส้แข็งแรง ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว
     
  • หากิจกรรมคลายเครียด หรือกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ เช่น การอ่านหนังสือ การทำสมาธิ หรือการออกกำลังกาย เป็นต้น
     
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ เครื่องที่มีคาเฟอีน รวมถึงอาหารรสจัด เช่น อาหารเค็มจัด เผ็ดจัด เป็นต้น
     
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะมีผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

โรคลำไส้ถือว่าเป็นโรคใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราแต่อาจปล่อยปละละเลย เพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานอาการอาจลุกลามจนไม่สามารถรักษาได้ หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และทำการรักษาที่ถูกต้องทันที



 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

โปรแกรมส่องกล้องโรคระบบทางเดินอาหารและลำไส้