ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “โรคมะเร็ง” เป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งมะเร็งที่พบว่าเกิดกับคนไทยมากที่สุดอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้น “มะเร็งปอด” เพราะปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊สผ่านการหายใจ และยังมีหน้าที่สำคัญในการขับของเสียออกจากร่างกายอีกด้วย ดังนั้นปอดจึงเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา หากเกิดความผิดปกติกับปอดผู้ป่วย จึงมีความเสี่ยงที่อาจจะเสียชีวิตได้
มะเร็งปอด เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว เจริญเติบโตผิดปกติอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด โดยเชื้อร้ายนี้ นอกจากจะแทรกซึม และทำลายปอดแล้ว ยังมีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย กว่าผู้ป่วยจะรู้ว่าตัวเองเป็น เชื้อร้ายมักทำลายปอดจนยากที่จะรักษาแล้ว
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก พบได้ประมาณ 15 % มักเกิดขึ้นบริเวณใกล้ขั้วปอดไปจนถึงส่วนกลางของหลอดลม เป็นชนิดที่มีการเจริญเติบโต และแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว มีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด และการรักษาด้วยรังสี
มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก พบได้ประมาณ 85 % ถือว่าเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะเซลล์มีการเจริญเติบโต และแพร่กระจายได้ช้ากว่าชนิดแรก จึงสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ
มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์เล็ก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ
มะเร็งปอดชนิดขนาดเซลล์ไม่เล็ก แบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งยังไม่เกิดการแพร่กระจายออกไปยังส่วนอื่นของปอด หรือลุกลามออกภายนอกปอด ซึ่งก้อนมะเร็งในระยะนี้ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ หรือน้อยกว่า 5 ซม. โดยจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาให้ผู้ป่วยเห็น
ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งเกิดการลุกลามไปยังเยื่อหุ้มปอดชั้นนอกกับผนังหน้าอก และมีการกระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองภายในปอด หากผู้ป่วยตรวจพบมะเร็งในระยะนี้ สามารถรักษาได้โดยการตัดส่วนที่เป็นเนื้อร้ายออก
ระยะที่ 3 ขนาดของก้อนมะเร็งใหญ่กว่าระยะที่ 2 ซึ่งจะลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง จากนั้นจึงเกิดการแพร่กระจายไปยังกลีบปอดอื่น
ระยะที่ 4 มะเร็งเกิดการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น สมอง, ต่อมหมวกไต, กระดูก, ต่อมน้ำเหลืองที่คอ เป็นต้น
ปกติแล้วโรคมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา ซึ่งจะแสดงอาการต่อเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 แล้ว ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
ไอเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นระยะเวลานาน, มีเสมหะเป็นเลือด, เสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเมื่อไอ
ปัญหาด้านการหายใจ ผู้ป่วยมักจะมีอาการหายใจลำบาก, รู้สึกเหนื่อยหอบตลอดเวลา, หายใจมีเสียงหวีด
เบื่ออาหาร เพราะเนื้อร้ายจะไปกดเบียดหลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารลำบาก จึงไม่อยากทานอาหาร, ร่างกายอ่อนเพลีย และส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ
เมื่อเชื้อมะเร็งลุกลามไปที่อื่น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น มีไข้, หนาวสั่น, ปวดตามข้อกับกระดูก, ตัว และตาเหลือง,เลือดอุดตันที่ใบหน้าทำให้หน้าบวม เป็นต้น
การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยหลักถึง 85% ของสาเหตุทั้งหมด เพราะในบุหรี่จะอุดมไปด้วยสารก่อมะเร็ง เมื่อสูดควันเข้าไป สารพวกนี้จะตรงเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งปราการด่านแรกที่ต้องเจอกับสารพิษนี้ คือ ปอดของเรา
ยิ่งอายุมากขึ้น อวัยวะรวมถึงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายจะยิ่งทำงานเสื่อมสภาพลง โดยผู้ที่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัด
ได้รับสารพิษ เช่น ก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสี ที่พบได้ในบางแห่ง, สารหนู, ถ่านหินที่ผู้ป่วยมักได้รับจากการประกอบอาชีพเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งสารพิษจากมลภาวะที่มาจากท่อไอเสียของยานพาหนะ ล้วนเป็นสารกระตุ้นทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้
พันธุกรรม หากบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งปอด จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น
การรักษาโรคมะเร็งปอด แพทย์จะพิจารณาจากอาการ และความรุนแรงของโรค ตามความเหมาะสมของบุคคล โดยมีวิธีการรักษา ดังนี้
การผ่าตัด แพทย์จะผ่าเอาเนื้อเยื่อของปอดบางส่วน เพื่อตรวจดูการแพร่กระจายของเชื้อ หากพบว่ามีการแพร่กระจายของเชื้อมาก แพทย์จะเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออก เพื่อป้องกันเชื้อลุกลามไปอวัยวะอื่น
เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็ง และรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด มักใช้ก่อนการผ่าตัด โดยจะมีวิธีรักษาคือการฉีดยาเข้าเส้นเลือด
การฉายรังสี เป็นการใช้แสงที่มีพลังความเข้มข้นสูงฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยวิธีนี้ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่ 3-4 ได้
อย่างที่เราทราบกันดี ว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอดกว่า 85 % คือ การสูบบุหรี่ วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การงดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่มือสอง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ยังคงเป็นวลีเด็ดที่สามารถใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นต่อร่างกายนั้น มักเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงของตัวเราเองทั้งนั้น ดังนั้นการดูแลร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ทำให้เราไม่ต้องกลัว หรือกังวลว่าตัวเองจะเสี่ยงเป็นโรคร้ายใด ๆ อีกต่อไป
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง