ป้องกันเชื้อโรคจากนกพิราบ เพื่อความปลอดภัยต่อสมอง
ป้องกันเชื้อโรคจากนกพิราบ เพื่อความปลอดภัยต่อสมอง

นกพิราบ เป็นตัวพาหะที่นำเชื้อโรคร้ายมาสู่มนุษย์ เนื่องจากมูลของนกพิราบ มีเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟรอร์แมนส์(Cryptococcus Neoformans) เมื่อมนุษย์ได้รับการสูดดม หรือสัมผัสเชื้อราตัวนี้ จะส่งผลให้มีการติดเชื้อที่บริเวณปอด และลุกลามไปยังสมองส่งผลให้เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้  ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของสมอง ควรรู้จักวิธีป้องกันเชื้อโรคที่มาจากนกพิราบ

 

 

โรคที่มาจากนกพิราบ

 

1. โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis)

 

  • เกิดจากเชื้อรา Cryptococcus Neoformans ในมูลของนกพิราบ โรคนี้จะส่งผลกระทบต่อปอด ก่อนจะแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด ไปยังอวัยวะอื่นๆ ผู้ป่วยมักจะมีอาการ ปวดศีรษะแบบเป็นๆ หายๆ มองเห็นไม่ค่อยชัด เป็นไข้ ไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหลออกจมูก ในกรณีที่สมองติดเชื้อผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

 

2. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

      

  • เกิดจากการสูดดมละอองของมูลนกพิราบชนิดแห้ง รวมทั้งการสัมผัสมูลของนกพิราบ สามารถติดเชื้อผ่านระบบทางเดินอาหารได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแพ้แสง หากติดจากเชื้อไวรัส อาการจะไม่รุนแรง สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาได้  หากติดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการจะรุนแรง เช่น ชัก หมดสติ เป็นอัมพาต สมองพิการ สามารถเสียชีวิตได้

 

3. ไข้หวัดนก

      

  • เป็นการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอในสัตว์ปีก ปกติแล้วจะติดต่อกันระหว่างสัตว์เท่านั้น แต่บางสายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อมาสู่คนได้ โดยเฉพาะไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะไอ คัดจมูก ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น  

 

4. โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis)  หรือโรคไข้นกแก้ว

      

  • โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Psittaci ผู้ป่วยมักจะมีอาการไม่รุนแรงมาก เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ไอแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ อีกทั้งโรคไข้นกแก้วนี้ ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคปอดบวม หากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด สามารถเสียชีวิตได้

 

 5. ปอดอักเสบ

 

  • โรคปอดอักเสบชนิดนี้เกิดจากการสูดดมเอาละอองสปอร์ เชื้อรา Cryptococcus Neoformans เช่นเดียวกับโรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis)  ส่งผลให้เกิดอาการติดเชื้อที่ปอด ลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย  จนปอดเกิดการอักเสบในที่สุด  ผู้ป่วยมักจะมีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะแบบเป็นๆ หายๆ วิงเวียนศีรษะ ปวดเบ้าตา อาเจียน และไอเป็นเลือด ปอดอักเสบจากการติดเชื้อราประเภทนี้อันตรายมาก หากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

 

6. โรคซาลโมเนลโลสิส (Salmonellosis)

      

  • เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำดื่ม ที่มีสารปนเปื้อนของเชื้อจากแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) โดยมีนกพิราบเป็นพาหะของโรค ผู้ป่วยมักจะมีอาการเป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และขับถ่ายเป็นเลือด สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองได้

 

7. โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)

 

  • เกิดจากการติดเชื้อรา Histoplasma ซึ่งจะอยู่ในดินที่นกพิราบได้ถ่ายมูลทิ้งไว้ ผู้ป่วยที่ร่างกายปกติแข็งแรงมักจะไม่แสดงอาการ ซึ่งอาการที่แสดงมักจะเป็นไข้ ไอ และมีอาการล้า แต่ในกรณีผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้การติดเชื้อทวีความรุนแรงมากขึ้นได้

 

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากนกพิราบ

      

  • บุคคลที่สัมผัสมูลนกพิราบ เช่น พนักงานทำความสะอาด ผู้ที่ชื่นชอบ และเลี้ยงนกพิราบไว้ดูเล่น

      

  • บุคคลที่อยู่ในบริเวณที่นกพิราบ บินผ่าน หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ เช่น ผู้ที่พักอาศัยอยู่ตามคอนโด

      

  • บุคคลที่ชอบให้อาหารนกพิราบ

      

  • เด็กเล็ก

      

  • ผู้สูงอายุ

      

  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

      

  • ผู้ป่วยโรคหอบหืด

      

  • ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

 

 

ป้องกันเชื้อโรคที่เกิดจากนกพิราบ

      

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสนกพิราบ หรือเข้าไปอยู่ในฝูงนกพิราบเยอะๆ รวมทั้งสัมผัสนกพิราบที่ตายแล้ว

      

  • มีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในแวดล้อมของนกพิราบ หรือมูลของนกพิราบ ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาด

      

  • ไม่ให้อาหารแก่นกพิราบ

      

  • ไล่นกพิราบออกจากที่อยู่อาศัย

      

  • ทำลายรังนกพิราบ พร้อมทั้งทำความสะอาด

      

ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากนกพิราบ ควรสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ด้วยการออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสนกพิราบ มูลนกพิการ และซากนกพิราบที่ตายแล้วให้มากที่สุด

 

 

เชื้อโรคนกพิราบ

 

 

 วิธีการไล่นกพิราบ

      

  • 1. ใช้แผ่นซีดี หรือถุงพลาสติกใส่น้ำแล้วแขวนไว้บริเวณที่นกพิราบบินมาทำรัง หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ เมื่อนกพิราบบินมา เห็นเงาสะท้อนก็จะบินหนีไปเอง

      

  • 2. ใช้รูปปั้นนก หรือตุ๊กตารูปนก มาแขวนไว้บริเวณที่นกพิราบบินมาทำรัง หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ นกพิราบจะบินหนีไปเอง

      

  • 3. ใช้ตาข่ายกั้นนกพิราบ บริเวณระเบียงคอนโด

      

  • 4. การไล่นกพิราบด้วยเสียงดังๆ เช่น การจุดประทัด การนำลำโพงไปวางไว้บริเวณที่นกพิราบบินมาทำรัง หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ หรือการสั่นกระดิ่ง เป็นต้น

      

  • 5. เลี้ยงสัตว์สำหรับไล่นก เช่น เหนี่ยว หรือแมว ไว้ไล่นกพิราบ

      

  • 6. ปลูกต้นไม้ที่มีหนามแหลม เช่น กระบองเพชร ทำให้นกพิราบไม่สามารถเกาะที่บริเวณนั้นได้

      

  • 7. ใช้น้ำส้มสายชูล้างบริเวณที่นกพิราบบินมาทำรัง หรือมาถ่ายมูลทิ้งไว้ จะสร้างกลิ่นฉุนรบกวนแก่นกพิราบ

 

 

นอกจากนกพิราบแล้ว สัตว์ปีกอื่นๆ ก็สามารถเป็นพาหะเชื้อโรคร้าย มาทำอันตรายแก่มนุษย์ได้ ดังนั้นหากเห็นสัตว์ปีกมีอาการผิดปกติ หรือการตายที่ผิดปกติควรแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ หากมีการสัมผัสนกพิราบ มูลนกพิราบ และซากนกพิราบที่ตายแล้ว เกิดมีอาการเป็นไข้  ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย เจ็บคอ ไอแห้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายในก่อนติดเชื้อในสมอง

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI