ผีอำ ผีหลอกหรือไม่ใช่ผีหรอก
ผีอำ ผีหลอกหรือไม่ใช่ผีหรอก

ท่านเคยไหมที่กำลังนอนอย่างสบายอารมณ์อยู่แล้วเกิดรู้สึกว่าขยับตัวไม่ได้ ทำได้เพียงกลอกลูกตาไปมาอยู่บนเตียง หลายท่านอาจจะเรียกอาการเหล่านี้ว่าเป็นอาการ “ผีอำ” ซึ่งในทางไสยศาสตร์เชื่อว่าเป็นการที่เกิดจากวิญญาณมาหลอกหลอน หรืออาจมีพลังงานบางอย่างเป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญอยู่ในห้องของคุณ แต่รู้หรือไม่ว่าอาการผีอำสามารถอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ได้แล้ว

 

อาการผีอำเป็นอย่างไร

 

ผู้ที่ตกอยู่ในอาการ “ผีอำ” จะรู้สึกเหมือนร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัวแบบเฉียบพลัน รู้สึกหมดแรง ไม่สามารถขยับแขนขาได้ พูดไม่ได้ รวมไปถึงมีอาการหายใจลำบาก รู้สึกเหมือนมีคนมาทับ ซึ่งมักจะเป็นในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น บางคนอาจฝันร้าย เห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงปริศนา โดยอาการเหล่านี้จะมาแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ละครั้งที่เป็นจะกินเวลาไม่นาน

เมื่อตื่นขึ้นจากอาการผีอำได้จะเกิดอาการตื่นกลัวจนตัวสั่น เหงื่อออกมาก รู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองเพิ่งฟื้นจากความตาย แม้อาการผีอำจะเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่ในหลักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายอาการนี้ได้ว่าเป็น ภาวะที่ร่างกายเข้าสู่ห้วงการหลับทั้ง ๆ ที่ยังตื่นอยู่ หรือโรคลมหลับ กล่าวคือร่างกายจะเข้าสู่สภาวะการหลับ แต่จิตสำนึกยังคงตื่นอยู่ ทำให้รู้สึกขยับตัวไม่ได้เหมือนคนเป็นอัมพาตนั่นเอง

 

วัฏจักรการนอนหลับ

 

ลักษณะของการนอนหลับจะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

 

  • ลักษณะหลับไม่สนิท (REM) เป็นภาวะที่สมองยังคงทำงานอยู่ ตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือที่เรียกว่ากึ่งหลับกึ่งตื่นนั่นเอง ซึ่งในลักษณะนี้มักจะเกิดภาวะผีอำได้
  • หลับลึก หรือหลับสนิท (NREM) สมองตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้าลงทำให้ร่างกายผ่อนคลายและพักผ่อนได้เต็มที่

การนอนหลับจะวนเวียนอยู่ในสองลักษณะนี้เป็นวัฏจักรไปมา ซึ่งปกติแล้วเราจะไม่สามารถแยกความฝันกับความจริงออกจากกันได้ นั่นจึงทำให้เกิดจินตนาการซ้อนกับความจริง เมื่อเกิดอาการผีอำขึ้น คนจึงจินตนาการเป็นภาพลวงตาของภูตผีปีศาจทั้ง ๆ ที่หาได้มีวิญญาณมาหลอกหลอนตนเองจริง ๆ ไม่

 

 

ผีอำ

 

อาการผีอำสาเหตุมาจากผีจริงหรือ

 

ถึงแม้ว่าจะเรียกว่า “ผีอำ” นั่นไม่ได้หมายความว่าอาการนี้จะเกิดจากการถูกผีอำจริง ๆ โดยอาการดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหรือจิตใจ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีสาเหตุของการเกิดอาการผีอำมักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนน้อย นอนไม่หลับ เวลานอนที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านอนหงายหรือเป็นโรคลมหลับ  เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้จากอาการตะคริวในเวลานอน มีภาวะทางจิต เช่น มีอาการเครียด และเกิดจากการใช้ยาบางชนิดหรือสารเสพติด อาการและสาเหตุที่กล่าวมาทำให้เกิดอาการผีอำได้ทั้งสิ้น

 

เกิดอาการผีอำแล้วควรทำเช่นไร

 

เมื่อมีอาการไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเนื่องจากสามารถค่อย ๆ หายไปเองได้แต่ถ้าหากเป็นบ่อยหรือมีปัญหาด้านการนอนอื่น ๆ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนโดยต้องนอนให้ครบ 6-8 ชั่วโมง ปรับสถานที่ในการนอนให้สงบและเหมาะกับการนอนเพื่อให้การนอนสบายและลดอาการผิดปกติระหว่างการนอนหลับ ไม่ควรใช้ยานอนหลับมากเกินไปเพราะอาจเกิดผลข้างเคียง แต่ถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผีอำเป็นประจำควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำหรือรับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

จะป้องกันผีอำอย่างไรถ้าไม่ไล่ผี

 

การป้องกันอาการผีอำสามารถทำได้ด้วยการสร้างหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้ดีมากยิ่งขึ้น ได้แก่

 

  • นอนหลับให้เพียงพอ
  • นอนตรงเวลา
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • หากมีอาการเหนื่อยให้รีบเข้านอน
  • ผ่อนคลายตนเองก่อนเข้านอน เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ
  • เปลี่ยนท่านอนให้นอนตะแคงหรือนอนคว่ำแทนการนอนหงาย
  • ออกกำลังเป็นประจำแต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน
  • จัดห้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและใช้ที่ปิดตา หรือผ้าม่านทึบเพื่อป้องกันแสงสว่างจากภายนอกรบกวนเวลานอน

 

อาการผีอำเป็นอาการที่ดูไม่รุนแรงแต่เราไม่ควรมองข้ามเนื่องจากมันเป็นสัญญาณบ่งบอกเราทางอ้อมว่าร่างกายของเราต้องการการพักผ่อนที่ดีกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อเรามีอาการผีอำจึงควรปรับพฤติกรรมการนอนถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดนอกเหนือจากการเข้าพบแพทย์